โรคหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่มักเกิดจากหลอดเลือดสมองอุดตันหรือตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงภาวะอ้วนลงพุง ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
อาการเตือน… ที่ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันที เช่น
- พูดไม่ชัด พูดไม่ออกหรือพูดไม่รู้เรื่อง ทันทีทันใด
- แขนขาใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ชาหรือขยับไม่ได้ขึ้นมาทันทีทันใด
- ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวมองเห็นไม่เห็นภาพซ้อนหรือมีอาการคล้ายม่านบังตาแบบฉับพลัน
- ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันแบบไม่เคยเป็นมาก่อนอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
- มึนงงเวียนศีรษะหรือเสียการทรงตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ ข้างต้น
ดังนั้น หากคุณหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น อย่าได้นิ่งนอนใจให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วนเพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษาได้ทันท่วงทีถึงแม้ว่าบางครั้งอาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นแบบชั่วคราว และดีขึ้นเองได้
โรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่แพทย์ต้องรีบให้การรักษา ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน สามารถทำได้ภายในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม และต้องมาถึงมือแพทย์ภายใน 4.5 ชั่วโมง เพราะหากนานเกินกว่านั้นจะมีโอกาสสูงที่กล้ามเนื้อสมองจะตาย และส่งผลให้มีปัญหาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา และการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ นำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์-อัมพาตในที่สุด
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะเวลาที่เกิดอาการ ก่อนเกิดอาการ และส่งเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อาทิ การทำอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดคอหรือหลอดเลือดสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินอาการและรับการรักษาตามกระบวนการทางแพทย์ เช่น การให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือใช้วิธีลากลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษาเป็นสำคัญ
ศูนย์อัมพาตเฉียบพลัน โรงพยาบาลรามคำแหง
สายด่วนสุขภาพโทร 0-2743-9999 ต่อ 2999
ขอขอบคุณข้อมูล:khaosod.co.th