บทความเบาหวาน

มารู้จัก ฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี กันเถอะ

Woman Removing Blood from Her Finger for a Blood Test --- Image by © Royalty-Free/Corbis
View

สำหรับท่านที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมหรือทางการแพทย์ใช้คำว่า ฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี กันพอสมควร แต่สำหรับท่านที่ยังไม่เคยได้ยินคำนี้ หรือเคยได้ยินแต่ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี หรือเรียกกันสั้นๆติดปากว่า เอ วัน ซี กันนะคะ

น้ำตาลเฉลี่ยสะสม เป็นค่าของน้ำตาลในเลือดที่จับกับโปรตีนในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่สะสมกันมาตลอด2-3 เดือนที่ผ่านมา นั่นแปลว่าถ้าเราได้รับอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลมากเกินความต้องการที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ ก็จะมีน้ำตาลบางส่วนที่เหลือในเลือดไปจับกับเม็ดเลือดแดง โดยสะสมทุกๆวัน จนมีปริมาณฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทำไมเป็นเบาหวานต้องตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี

โดยส่วนใหญ่แล้วคนเป็นเบาหวานมักคุ้นเคยกับการอดอาหาร 6-8 ชั่วโมง เพื่อไปตรวจเลือดก่อนพบหมอตามนัด ซึ่งค่าน้ำตาลที่ได้จะบอกได้คร่าวๆว่าวันสองวันที่ผ่านมานั้นคุณทานอาหารที่มีน้ำตาลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหลายคนมักงดของโปรด ไม่ว่าจะเป็น ขนม หรือน้ำหวาน 2-3วันก่อนเจาะเลือด เพื่อหวังว่าผลน้ำตาลที่ได้จะเป็นที่พอใจตามเกณฑ์ที่หมอบอกไว้ (80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ดังนั้นการตรวจหา เอ วัน ซี จึงเป็นตัวช่วยในการประเมินความสามารถในการควบคุมเบาหวานในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ชัดเจนกว่า เพราะบอกถึงผลการควบคุมระดับน้ำตาลในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่วันสองวันก่อนการตรวจ

แล้ว เอ วัน ซี ควรตรวจบ่อยแค่ไหน

ผู้ที่เป็นเบาหวานควรตรวจน้ำตาลสะสม หรือ เอ วัน ซี ทุก 2-3 เดือน ตามอายุของเม็ดเลือดแดง เพื่อดูว่า ช่วง 2-3 เดือนที่คุณไม่ได้มาหาหมอนั้นคุณมีการควบคุมเบาหวานได้ดีแค่ไหน ซึ่งตัวเลขเป้าหมายที่บอกว่าการควบคุมเบาหวานอยู่ในเกณฑ์ที่ดีนั้นคือ เอ วัน ซี น้อยกว่า 7% แต่ถ้าสามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง หมออาจลดการตรวจลงเหลือแค่ปีละ 2 ครั้ง

ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับ เอ วัน ซีที่น่าสนใจคือ “คุณสามารถตรวจ เอ วัน ซี เวลาใดก็ได้ ไม่ต้องอดอาหาร” และถึงแม้ผู้เป็นเบาหวานบางคนอยากให้ผลน้ำตาลดีเวลามาหาหมอโดยการอดของหวานก่อนมาเจาะเลือด 2-3 วัน ก็ไม่ได้ทำให้ค่าเอ วัน ซีเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าต้องการให้น้ำตาลในเลือด และ เอ วัน ซี อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขอให้ทุกท่านดูแลตนเองและควบคุมเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชะลอและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมาจากการควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ครั้งหน้าเราจะมาพูดคุยถึงเรื่องการตรวจน้ำตาลด้วยตนเองที่บ้านกัน เพื่อให้ทุกท่านสามารถดูแลตนเองและประเมินผลน้ำตาลด้วยตนเองนะคะ

เรียบเรียงโดย พรรณี ส่งสาย

ขอขอบคุณ

ศูนย์ เบาหวาน และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ ผู้ประพันธ์

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bangkokhealth.com/

Leave a Reply