คุณสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว หรือสอง แต่อาจหลายครั้ง โดยเมื่อเป็น ไข้เลือดออก รอบสอง หรือรอบต่อๆ มานั้น มักจะมีอาการหนักและรุนแรงกว่าครั้งก่อนหน้าเสมอ
ใช่แล้ว ไข้เลือดออกโจมตีเราได้ครั้งแล้วครั้งเล่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) โรคไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดในกว่าหนึ่งร้อยประเทศทั่วโลก และประมาณว่ามีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ถึงสามพันล้านคน หรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเลยทีเดียว
สำหรับสถิติในประเทศไทยนั้น มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุด คืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ เรียกได้ว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย โดยสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก็คือภาวะเลือดออกมาก และเลือดรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต
ไวรัสเด็งกี่ (Dengue) ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ โดยในประเทศไทยมีการะบาดของทั้งสี่สายพันธุ์หมุนเวียนกันไปตามแต่พื้นที่ และจากการที่ไวรัสเด็งกี่มีหลายสายพันธุ์เช่นนี้ ทำให้เกิดโอกาสเป็นอย่างมากว่า เราอาจจะติดเชื้อและเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่าหนึ่งครั้ง และที่ร้ายที่สุดก็คือ ในครั้งถัดมาของการติดเชื้อ อาการของโรคมักจะหนักมากกว่าครั้งก่อน และอาจหนักขึ้นจนถึงแก่ชีวิตเลยก็เป็นได้
ทำไมครั้งต่อมาถึงหนักหนากว่าครั้งแรก
ก่อนหน้านี้เราทราบกันแต่เพียงว่า การเป็น ไข้เลือดออก รอบสอง นั้น มักจะมีอาการหนักกว่าครั้งแรก แต่ก็ยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าเพราะเหตุใด แต่ในตอนนี้ ได้มีงานวิจัยที่ออกมาชี้ชัดแล้วว่า ทำไมการติดเชื้อครั้งต่อมาถึงร้ายแรงขึ้น
จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลระหว่างปี 2004-2016 ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 2-14 ปี จำนวน 6,684 คน เพื่อดูว่าทำไมเด็กจึงมักจะเกิดไข้เลือดออกชนิดที่ร้ายแรง (dengue hemorrhagic fever และ dengue shock syndrome) เมื่อมีการติดเชื้อครั้งที่สอง คำตอบที่เรียบง่ายในเรื่องนี้ก็คือ ในการติดเชื้อครั้งแรกนั้น ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานตามปกติด้วยการสร้างแอนตี้บอดี้มาต่อสู้กับการรุกรานของไวรัส แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือแอนตี้บอดี้เหล่านี้สามารถสับสนได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่นในภายหลัง หรือแม้กระทั่งสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดียวกันก็ตาม โดยในการติดเชื้อครั้งที่สองนี้ แอนตี้บอดี้อาจจะรับรู้ถึงการเข้ามาของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่จะทำงานได้ไม่ดีพอในการกำจัดมันออกจากระบบ และแทนที่จะกำจัดมันออกไป แอนตี้บอดี้กลับไปจับตัวกับไวรัสที่เข้ามาใหม่ ในแบบที่กลับช่วยให้มันรุกรานระบบภูมิคุ้มกันและทำให้มันกระจายตัวไปมากยิ่งขึ้น และทำให้การติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อมายิ่งรุนแรงขึ้น
ไม่ได้เป็นไข้เลือดออกครั้งแรก ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง
ดังนั้น จึงเป็นจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องแจ้งให้หมอทราบเสมอว่า คุณเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน หากคุณเข้ารับการรักษาอาการที่อาจจะเป็นไข้เลือดออกได้ เพื่อให้หมอสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับอาการร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นครั้งที่สองหรือสามหรือสี่ วัคซีนไข้เลือดออก อาจช่วยคุณได้
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
วัคซีนไข้เลือดออกซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 พร้อมกับอีก 17 ประเทศที่ให้การรับรองในการนำวัคซีนตัวนี้มาใช้ได้ โดยวัคซีนจะสามารถช่วยป้องกันไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 65.6% และป้องกันความรุนแรงของโรคได้ถึง 93.2%
ถึงแม้จะมีข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ในกลุ่มเด็กที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน จนทำให้เกิดข้อโต้แย้งเรื่องประโยชน์ของวัคซีนในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แต่ในกรณีของผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนนั้น เมื่อได้รับวัคซีนจะสามารถป้องกันไข้เลือดอกได้มากถึง 81.9% เนื่องจากวัคซีนไข้เลือดออกเกิดจากการผสมกันระหว่างวัคซีนเชื้อไข้เหลืองที่มีใช้มานาน พ่วงกับเชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ จึงไม่ใช่วัคซีนที่เป็นเชื้อไข้เลือดออกล้วนๆ ทำให้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ได้
การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกกำหนดให้ฉีดสามครั้ง โดยเว้นระยะ 6 และ 12 เดือน การฉีดแต่ละคร้งจะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าจะป้องกันโรคได้นานแค่ไหน แต่จากการติดตามผู้ที่ฉีดวัคซีนนี้มาเป็นเวลา 6 ปี ก็พบว่ายังมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่
ดังนั้น สำหรับผู้ที่เป็นไข้เลือดออกมาแล้ว และมักปรากฏอาการร้ายแรงในการติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อๆ การป้องกันไม่ให้โรคมาเยือนซ้ำสองจึงเป็นหัวใจสำคัญ และการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ก็ดูเหมือนจะเป็นการสร้าง “แต้มต่อ” ที่สำคัญในการป้องกันตัวเองจากไข้เลือดออก
ขอขอบคุณ:sanook.com