ต้อกระจกรู้ทัน-โรค

รู้ทัน ต้อกระจก อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษา

Views

ทำความรู้จักโรคต้อกระจก 

“ต้อกระจก (Cataract)” เป็นภาวะที่เลนส์ภายในลูกตามีความขุ่นขาว จึงทำให้แสงที่จะผ่านเข้าไปในดวงตาไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ทำให้เกิดอาการตามัว มองเห็นภาพเบลอ สีเพี้ยน และมองเห็นคล้ายมีหมอกมาบังตลอดเวลา

สาเหตุของการเกิดต้อกระจก 

ต้อกระจกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากความเสื่อมของเลนส์ตาตามอายุ แต่ก็มีอีกบางส่วนที่เป็นเป็นต้อกระจกด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น

  1. ต้อกระจกแต่กำเนิด
  2. ต้อกระจกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ที่ไม่ทราบสาเหตุ
  3. การกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง หรือมีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าไปในดวงตา
  4. การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต
  5. การสูบบุหรี่
  6. การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  7. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

อาการของต้อกระจก

ผู้ที่เป็นโรคนี้จะเริ่มมีอาการ ตาพร่ามัวลงเรื่อยๆ รู้สึกเหมือนมีหมอกบัง มองเห็นภาพซ้อนและมองเห็นแสงกระจายขณะขับรถตอนกลางคืน ในบางรายอาจมีตาพร่ามัวมากในที่ที่มีแสงสว่าง สู้แสงไม่ได้แต่กลับมองชัดในที่มืด ในรายที่เป็นต้อกระจกเล็กน้อย อาจมีสายตาเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ และเมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น การเปลี่ยนแว่นสายตาก็จะไม่ทำให้การมองเห็นดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของต้อกระจก

เมื่อต้อกระจกสุกและไม่ได้รับการผ่าตัด อาจทำให้เกิดต้อหิน ตามมาได้จากเลนส์บวม หรือเลนส์โปรตีนรั่วไปอุดตันทางระบายน้ำในลูกตา และอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

การรักษาต้อกระจก

ระยะเริ่มต้น : ในระยะแรกของการเป็นต้อกระจก การเปลี่ยนแว่นสายตา สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้

ระยะยาว : เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น การมองเห็นแย่ลงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ ก็เป็นข้อบ่งชี้ให้แพทย์รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน คือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) และใส่เลนส์เทียม

การดูแลตนเองหลังผ่าต้อกระจก 

  1. หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยควรนอนพักให้มากที่สุด 
  2. ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การยกของหนักหรือกระเทือนมาก การออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงการไอหรือจามแรงๆ 
  3. ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและใช้ยาต่างๆ ให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง 
  4. เช็ดหน้าโดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้งแทนการล้างด้วยน้ำ 
  5. ห้ามขยี้ตาข้างที่ทำการผ่าตัดเด็ดขาด ผู้ป่วยควรใช้ที่ครอบตาพลาสติกปิดตาเอาไว้ 
  6. สวมแว่นตากันแดดทุกครั้งเมื่อออกไปในที่แสงจ้า
  7. ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแผลจะหายดีและปลอดภัยแล้ว แต่ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ผลการรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนคนปกติทั่วไป และตาข้างที่เคยผ่าตัดแล้วจะไม่กลับมาเป็นต้อกระจกซ้ำอีก โดยภาพที่ได้จากการฝังเลนส์แก้วตาเทียมจะมีความใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด ผู้ป่วยจึงปรับตัวได้ง่าย 

วิธีป้องกันการเกิดต้อกระจก

  1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ 
  2. ระวังอย่าให้ดวงตาถูกกระทบกระแทก ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อดวงตากรณีทำงาน เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงาน
  3. ควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
  4. พักสายตาเป็นระยะหากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน
  5. งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด
  6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ 
  7. การใช้ยาหยอดตาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
  8. ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี 

ขอขอบคุณhttps://www.sikarin.com/

รูปภาพhttps://www.posttoday.com/

Leave a Reply