โรคความดันโลหิตสูง คือสภาวะของระดับความดันโลหิตสูงกว่าระดับปกติ โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีความดันโลหิตปกติ จะวัดค่าความดันได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะวัดค่าความดันได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และถือว่าเป็นสภาวะที่ต้องได้รับการควบคุมตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนและโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมอง โรคไตเสื่อม โรคเบาหวาน เป็นต้น
ความดันโลหิตสูง สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ผศ. นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูงคือผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 90-95 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ทำให้โรคความดันโลหิตสูงถูกขนานนามว่า “โรคเพชฌฆาตเงียบ” โดยทางการแพทย์นั้นได้อธิบายโรคความดันโลหิตสูงนี้ว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของมนุษย์ เช่น เกิดจากกรรมพันธุ์และอายุที่มากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะพบได้มากในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป หรือวัยหมดประจำเดือน
วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง
แม้โรคความดันโลหิตสูงจะเป็นโรคที่อันตราย แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ในระยะยาว หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที โดยเบื้องต้นจะรักษาด้วยวิธีการให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อรักษาระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้
สิ่งที่ควรทำ
- หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก และผลไม้ชนิดที่ไม่หวาน
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ออกกำลังเป็นประจำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ ไม่เครียด
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- งดการสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ ตีบตัน ของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดไต
- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์
- ลดอาหารเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป เช่น กะปิ นํ้าปลา ของหมักดอง
- ลดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อติดมัน หนังสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม อาหารประเภทผัดหรือทอด
- ลดน้ำตาล เช่น น้ำหวาน อาหารหรือขนมที่มีรสหวาน
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :ผศ. นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (1),(2)
ภาพ :iStock
ขอขอบคุณhttps://www.sanook.com/