ความเครียดจากการทำงาน ถือว่าเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ซึ่งความเครียดที่มากเกินไปนั้น สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้เป็นอย่างมาก ทั้งทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติ หายใจถี่ กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง ปากแห้ง รวมถึงทำให้การทำงานของกระเพาะอาหาร และลำไส้หยุดชะงัก ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อาหารปั่นป่วนในช่องท้อง และรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน หรือก็คือโรค เครียดลงกระเพาะ นั่นเอง
สาเหตุของโรค เครียดลงกระเพาะ
สาเหตุหลักของโรคเครียดลงกระเพาะก็คือ “ความเครียดสะสม” เพราะเมื่อเราเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนอดรีนาลีนในปริมาณที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา และยังไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนเกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร และทำให้ลำไส้เกิดการหดตัวมากกว่าปกติอีกด้วย ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
อาการของโรค เครียดลงกระเพาะ
• คลื่นไส้อาเจียน เสียดหน้าอกหลังทานอาหาร
• ปวดบริเวณลิ้นปี่ มักปวดเวลาท้องว่าง อาการปวดจะลดลงหรือหายไป เมื่อได้ทานอาหาร
• มีอาการปวดหลัง หลังทานอาหารไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่กระเพาะอาหารเริ่มย่อยอาหาร
• รู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกว่ามีลมในกระเพาะมาก เรอเหม็นเปรี้ยว ซึ่งมีสาเหตุมาจากกระบวนการย่อยอาหารในกระเพาะแปรปรวน จากการรีบทานอาหาร กลืนอาหารเร็วเกินไป หรือดื่มน้ำมากขณะทานอาหาร
• ปวดท้อง หรือ มวนท้อง โดยอาการจะทุเลาลงหรือหายไปเมื่อถ่ายอุจจาระ
• ถ่ายอุจจาระมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือน้อยกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
• ต้องเบ่งถ่าย กลั้นไม่อยู่ หรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด
• หากมีอาการปวดท้องรุนแรงจนถึงขั้นหายใจแรงก็ปวดท้อง ถ่ายท้อง อาเจียน หรืออุจาระเป็นเลือดและมีสีดำตลอดเวลา ถือว่าอาการอยู่ในขั้นอันตราย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน เพราะหากช้าเกินไป อาจทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุ หรือเลือดออกทางเดินอาหารได้
การรักษาโรคเครียดลงกระเพาะ
• ทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 3 มื้อ จะช่วยให้กระเพาะอาหารเคยชินกับการย่อย และปล่อยน้ำย่อยออกมาในปริมาณที่พอดี
• เลิกสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รวมถึง ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ
• หยุดกินยาแอสไพริน ยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบ ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ เพราะยากลุ่มนี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้กระเพาะอาหารเกิดการอักเสบมากขึ้น ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาบางชนิด ให้สอบถามแพทย์ก่อนใช้ยา
• ออกกำลังกาย ทุกครั้งที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดฟินออกมา ทำให้รู้สึกสบายใจ และช่วยลดความวิตกกังวลได้
• ระบายความเครียดออกมาบ้าง การเล่าความเครียดให้ผู้อื่นฟัง หรือจดบันทึกส่วนตัวสามารถช่วยระบายความเครียดได้เป็นอย่างดี
• หากมีความเครียดที่เกิดจากการหมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ในอดีต หรือเอาแต่คิดถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ให้หมั่นดึงจิตใจให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน มีสติ ยอมรับความจริง และคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ
• หากิจกรรมคลายเครียด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำสมาธิ หรืออ่านหนังสือ เป็นต้น หากปฏิบัติกิจกรรมเหล่านี้เป็นประจำ จะช่วยลดความเครียดลงได้ ซึ่งช่วยให้ในระยะยาวยังสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารเนื่องจากความเครียดให้หายขาดได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : gedgoodlife