ปอดเป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ เมื่อเกิดการติดเชื้อมักมีการลุกลามแบบไม่รู้ตัว เพราะส่วนใหญ่แสดงอาการคล้ายกับอาการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น ไอหรือจาม ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อรุนแรงอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ แต่ปัจจุบันสามารถป้องกันภาวะปอดติดเชื้อบางชนิดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอสคัส (Pneumococcus)
ปอดติดเชื้อคืออะไร
ปอดติดเชื้อเป็นภาวะติดเชื้อเฉียบพลันทางระบบทางเดินหายใจหรือการติดเชื้อที่เนื้อปอด ทำให้เกิดอาการปอดบวมและมีหนองขัง ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อที่รุนแรง อาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้
ปอดติดเชื้อมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส ฯลฯ นอกจากนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส เชื้อนิวโมค็อกคัส ตลอดจนเชื้อรา ซึ่งแพร่กระจายจากการหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรงจากการไอหรือจาม หรือหากเกิดในผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มักเกิดจากการสำลักน้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปในปอด หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อแอนาโรป (Ananarob) ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุทำให้ปอดอักเสบจากฟันผุ โดยเชื้อมักจะปนกับน้ำลายเข้าสู่ปอด
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อปอดติดเชื้อ
ภาวะปอดติดเชื้อมักพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ติดสุราเรื้อรังหรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
- ผู้ที่ที่ได้รับยากดภูมิต้านทานหรือรับประทานสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
- เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ต่อมทอลซิลอักเสบ ก็สามารถก่อให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อได้เช่นกัน
อาการของปอดติดเชื้อเป็นอย่างไร
ภาวะปอดติดเชื้อสามารถสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้
- ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ต่อมาจะมีเสมหะสีขุ่นข้นเวลาไอ หรือมีเลือดปนมากับเสมหะ
- หายใจเร็ว
- รู้สึกเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้า ไอแรง แล้วรู้สึกเจ็บร้าวที่หัวไหล่ ชายโครง หรือท้อง
ความรุนแรงของปอดอักเสบ
หากตรวจพบภาวะปอดติดเชื้อในระยะแรกเริ่ม สามารถรักษาให้หายได้ หากปอดติดเชื้อรุนแรง อาจทำให้เกิดหนองในปอด ภาวะน้ำท่วมปอดอย่างเฉียบพลัน ก่อให้เกิดอาการหายใจลำบาก หายใจหอบ หรือหากรุนแรงมากอาจเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน และเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และสังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
การป้องกัน
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด หากจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
- เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคอีสุกอีใส ควรทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรก
- งดการสูบบุหรี่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง
- การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอสคัส ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้กันอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดคอนจูเกตซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้นาน แนะนำให้ฉีด 1 เข็ม และชนิดโพลีแซคคาไรด์ แนะนำให้ฉีด 1 เข็ม และควรฉีดซ้ำหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก 5 ปี
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลปิยะเวท