ออสทีโอซาร์โคมา (osteosarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกชนิดหนึ่ง โดยในประเทศไทยพบอุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวประมาณ 0.8 คนต่อประชากรหนึ่งแสนราย เนื้องอกเหล่านี้เกิดขึ้นได้บ่อยในวัยเด็กโตและวัยรุ่น และมักไม่ค่อยพบในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี
ในปัจจุบัน เด็กมีโอกาสรอดชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในวัยเด็กมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด มีตัวยาและการรักษาใหม่ที่ดี และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมหลายชนิด แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องสะเทือนใจในการได้ยินว่าบุตรหลานของคุณเป็นโรคมะเร็ง และในบางครั้งก็สามารถรู้สึกแย่และเสียใจอย่างหนักได้ มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจำนวนมาก และองค์กรสนับสนุนหลายแห่งที่จะช่วยคุณในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งของบุตรหลานของคุณรวมถึงการรักษาที่อาจเกี่ยวข้องให้มากขึ้น มักช่วยให้พ่อแม่สามารถรับมือกับโรคดังกล่าวได้ดีขึ้น เราหวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน กุมารแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งจะให้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นให้แก่คุณ หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ คุณควรถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือพยาบาลที่รู้ว่าสภาวะโรคของบุตรหลานของคุณเป็นอย่างไร
โรคมะเร็งออสทีโอซาร์โคมา
มะเร็งออสทีโอซาร์โคมามักจะเริ่มต้นที่ส่วนปลายด้านใดด้านหนึ่งของกระดูกท่อนยาวของร่างกาย บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่เนื้อเยื่อกระดูกใหม่มีการสะสมอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบการเจริญเติบโตของร่างกายเข้าสู่วัยหนุ่มสาว โรคมะเร็งดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับกระดูกชิ้นใดในร่างกายก็ได้ แต่บริเวณที่พบมากที่สุดคือ กระดูกบริเวณแขนและขา โดยเฉพาะบริเวณข้อเข่าและข้อต่อที่ไหล่
มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมายังแบ่งย่อยออกได้เป็นหลายชนิด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใจกลางของกระดูก นอกจากนี้ยังมีชนิดย่อย ๆ อีกบางชนิดที่พบได้ยาก เช่น ชนิดเกิดที่ผิวกระดูกส่วนแข็ง (parosteal) ชนิดเยื่อหุ้มกระดูก (periosteal) ชนิดคล้ายถุงน้ำ (telangiectatic) และชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell osteosarcoma)
สาเหตุของมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา
ยังมีการวิจัยเรื่องสาเหตุของมะเร็งออสทีโอซาร์โคมาดำเนินอยู่เรื่อย ๆ ในปัจจุบัน แต่เช่นเดียวกับโรคมะเร็งในวัยเด็กส่วนใหญ่ที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ มีปัจจัยเสี่ยงบางส่วนที่เกี่ยวข้อออสทีโอซาร์โคมา เด็กที่เป็นโรคมะเร็งจอประสาทตาชนิดสืบทอดทางกรรมพันธุ์ (hereditary retinoblastoma) จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระดูกเพิ่มขึ้น เด็กที่เคยได้รับรังสีรักษาและเคมีบำบัดก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าวมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งกระดูกไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บหรือความเสียหายต่อกระดูก แม้ว่าการบาดเจ็บดังกล่าวอาจดูมีอาการคล้ายกับโรคมะเร็งออสทีโอซาร์โคมาก็ตาม
อาการและอาการแสดงของออสทีโอซาร์โคมา
อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ความเจ็บปวดในชิ้นกระดูกที่เกิดมะเร็ง ความเจ็บปวดนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ และเริ่มค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่อาจเจ็บปวดอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการบวมรอบกระดูกที่ได้รับผลกระทบ ในบางครั้ง อาจพบว่าโรคมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมาสามารถทำให้กระดูกอ่อนแอลงจนกระทั่งกระดูกหักได้แม้ว่าผู้ป่วยลื่นล้มไม่รุนแรงหรือเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเดินขาเป๋หรือกระเผลกได้หากก้อนมะเร็งดังกล่าวเกิดขึ้นที่กระดูกขาหรือกระดูกเชิงกราน
อาการเหล่านี้อาจมีได้หลายสาเหตุมาก นอกเหนือจากโรคมะเร็งกระดูก อย่างไรก็ตามอาการปวดกระดูกอย่างต่อเนื่องควรได้รับการตรวจสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือกุมารแพทย์ โดยทั่วไป อาการปวดเกี่ยวกับกระดูกมักเกิดจากการกระแทกจากการเล่นกีฬา
วิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา
โดยทั่วไปแพทย์ประจำตัวของบุตรหลานคุณจะเริ่มด้วยการซักประวัติ และตรวจร่างกายและอาจส่งตรวจเพิ่มเติม หรือส่งถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ การตรวจที่จำเพาะสำหรับการวินิจฉัยเนื้องอกในกระดูกจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะ ดังนั้นหากแพทย์ทั่วไปสงสัยว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นโรคมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา แพทย์จะส่งบุตรหลานของคุณไปที่โรงพยาบาลเฉพาะทางหรือศูนย์มะเร็งในเด็กเพื่อทำการทดสอบเพิ่มเติม
แพทย์ที่โรงพยาบาลเฉพาะทางอาจซักประวัติทางการแพทย์ของบุตรหลานท่านอีกครั้ง จากนั้นพวกเขาจะทำการตรวจร่างกาย การตรวจนี้จะรวมถึงการตรวจบริเวณกระดูกเจ็บปวดเพื่อดูการบวมหรือความตึงแน่น บุตรหลานของท่านอาจจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อตรวจสุขภาพโดยทั่วไปร่วมด้วย
อาจจำเป็นต้องมีการตรวจและการทดสอบหลายอย่างเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา การถ่ายภาพรังสีเอ็กซเรย์ในส่วนที่เจ็บปวดของกระดูก มักจะสามารถระบุถึงเนื้องอกภายในได้ แม้ว่าอาจจะยากในการวินิจฉัยในบางครั้ง
ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของเนื้องอกจะถูกตัดออกมาและนำไปศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ กระบวนการนี้เรียกว่าการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก ๆ ที่ทำภายใต้การดมยาสลบ
การทดสอบอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายหรือไม่ ได้แก่ การตรวจเลือด การสแกนกระดูก (Bone scan)และการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
หากจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมใด ๆ แพทย์ผู้รับผิดชอบบุตรหลานคุณจะอธิบายถึงความจำเป็นและขั้นตอนที่ต้องทำให้คุณได้ทราบอีกครั้ง
การแบ่งระดับหรือเกรดของโรคมะเร็ง
การแบ่งระดับหรือเกรด จะบ่งบอกถึงลักษณะของเซลล์มะเร็งภายใต้กล้องจุลทรรศน์และทำให้เห็นภาพว่าเซลล์มะเร็งเกรดดังกล่าวจะลุกลามได้ไวเพียงใด เซลล์มะเร็งเกรดต่ำมักเติบโตช้าและไม่ค่อยแพร่กระจายออกไปที่อื่น
แต่ในมะเร็งเกรดสูง เซลล์มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น
มะเร็งออสทีโอมาส่วนใหญ่เป็นมะเร็งเกรดสูง แต่บางชนิดที่พบได้น้อยชื่อว่า ออสทีโอซาร์โคมาชนิดผิวกระดูกแข็ง (Parosteal osteosarcoma) มักเป็นมะเร็งเกรดต่ำ
การจัดระยะของโรคมะเร็ง
ระยะของโรคมะเร็งเป็นคำที่ใช้ในการอธิบายถึงขนาดของก้อนมะเร็ง และอธิบายว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นหรือไม่ การทราบชนิดของโรคและระยะของโรคมะเร็งจะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจในการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกจัดกลุ่มว่าเป็น โรคเฉพาะที่ (localized disease) ซึ่งเซลล์มะเร็งนั้นพบเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือเป็นโรคมะเร็งแพร่กระจาย (metastatic disease) ซึ่งเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปสู่อีกอวัยวะหนึ่งแล้ว
ระบบที่นิยมใช้ในการจัดระยะของโรคมะเร็งออสทีโอซาร์โคมามีรายละเอียด ดังนี้:
- ระยะ 1A – มะเร็งเป็นเกรดต่ำและพบเฉพาะในส่วนผิวแข็งของกระดูก
- ระยะ 1B -มะเร็งเป็นเกรดต่ำ แต่ขยายออกไปนอกกระดูกและเข้าไปในช่องว่างเนื้อเยื่ออ่อนที่มีเส้นประสาทและเส้นเลือดอยู่ภายใน
- ระยะ 2A – มะเร็งเป็นมะเร็งเกรดสูงแต่ยังอยู่ในบริเวณของผิวกระดูกแข็งทั้งหมด
- ระยะ 2B – มะเร็งเป็นมะเร็งเกรดสูง และได้แพร่กระจายออกไปนอกกระดูก เข้าไปสู่บริเวณช่องว่างเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ล้อมรอบซึ่งมีเส้นประสาทและเส้นเลือดอยู่ภายใน “มะเร็งออสทีโอซาร์โคมาในเด็กส่วนใหญ่พบเป็นระยะ 2B นี้”
- ระยะ 3 – มะเร็งอาจเป็นมะเร็งเกรดต่ำหรือสูงก็ได้ และอาจพบได้อยู่ภายในกระดูกทั้งหมดหรือกินขอบเขตออกไปนอกกระดูก แต่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหรือกระดูกชิ้นอื่น ๆ ที่ไม่ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับกระดูกที่เนื้องอกเริ่มต้นขึ้นแล้ว
ถ้ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษาครั้งแรกนี้จะเรียกว่าเป็น มะเร็งกลับซ้ำ หรือมะเร็งกำเริบ
การรักษาออสทีโอซาร์โคมาในเด็ก
การรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งขนาดของก้อนเนื้องอก ตำแหน่งที่เกิดและระยะของโรค
เคมีบำบัด
เคมีบำบัดเป็นส่วนการรักษาที่สำคัญอย่างมากในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา เคมีบำบัดทำโดยการใช้ยาต้านมะเร็ง (cytotoxic drug) เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง และมักจะทำก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนเนื้องอก นอกจากนี้ยังอาจทำหลังจากที่เนื้องอกได้รับการผ่าตัดออกเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่จะกลับมาเป็นซ้ำ และโดยทั่วไปมักใช้ยาหลายชนิดประกอบร่วมกัน
การฉายรังสีรักษา
ในบางครั้ง ผู้ป่วยอาจได้รับการฉายรังสีรักษาเช่นกัน เป็นกระบวนการรักษาที่ทำลายเซลล์มะเร็งโดยใช้รังสีพลังงานสูง ในขณะที่พยายามส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติทั่วไปน้อยที่สุด
การผ่าตัด
การเลือกชนิดของการผ่าตัดและขอบเขตที่ต้องกำจัดออกนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของเนื้องอกที่มีอยู่ในร่างกาย การผ่าตัดดังกล่าวจะต้องดำเนินการโรงพยาบาลเฉพาะทางซึ่งมีบุคลากรและอุปกรณ์พร้อมที่สุด และบุตรหลานของคุณจะได้รับการส่งตัวไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอ
การผ่าตัดอาจรวมถึง การผ่าตัดเพื่อตัดแขนขา (amputation) หรือผ่าตัดตัดเฉพาะส่วนมะเร็งของกระดูกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนนั้นจะถูกทดแทนด้วยอวัยวะแขนขาเทียมบางรูปแบบ หากมีเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้นของกระดูกที่เกิดโรคถูกกำจัดออกไป การผ่าตัดนี้จะเรียกว่าการผ่าตัดเก็บแขนขา (limb-sparing surgery) และเด็กส่วนใหญ่จะได้รับการพิจารณาการผ่าตัดในรูปแบบนั้นก่อนเท่าที่จะเป็นไปได้
การผ่าตัดตัดแขนขา (amputation)
บางครั้งการผ่าตัดตัดแขนขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากมะเร็งลุกลามไปจนมีผลต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทรอบข้าง
หลังจากตัดแขนขาแล้ว จะมีการติดตั้งอวัยวะแขนขาเทียมและทำการปรับแต่งเป็นประจำเมื่อบุตรหลานของคุณเจริญเติบโตขึ้น อวัยวะเทียมในปัจจุบันสามารถทำงานได้ดีและสะดวกมาก คุณสามารถให้บุตรหลานของคุณเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามปกติและแม้แต่การเล่นกีฬา
การผ่าตัดเก็บแขนขาไว้ (Limb-sparing surgery)
การผ่าตัดเก็บแขนขาไว้สามารถทำได้สองวิธี:
- ทดแทนส่วนกระดูกที่กำจัดออกไปด้วยอวัยวะเทียมซึ่งได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นมาเพื่อตำแหน่งนั้นโดยเฉพาะ
- ทดแทนส่วนกระดูกที่ได้รับผลกระทบด้วยกระดูกที่นำมาจากส่วนอื่นของร่างกาย เรียกว่า การปลูกถ่ายกระดูก (bone graft)
หลังจากการผ่าตัดประเภทนี้ บุตรหลานของคุณมักจะสามารถใช้แขนขาได้เกือบปกติ อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ควรเข้าร่วมในกีฬาที่ต้องมีแรงกระทบกระแทก เนื่องจากความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับกระดูกหรืออวัยวะเทียมอาจต้องได้รับการแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่
หากบุตรหลานของคุณเติบโตขึ้น ขาเทียมก็ต้องเปลี่ยนเป็นอวัยวะเทียมที่ขนาดใหญ่ขึ้นเช่นกันตามความยาวของกระดูกที่เปลี่ยนไป ซึ่งหมายความว่าอาจต้องเข้าพักระยะสั้นในโรงพยาบาลในบางกรณี ถึงแม้จะมีการยืดขาเทียมบางครั้งสามารถทำในแผนกรักษาผู้ป่วยนอกได้เช่นกัน
การรักษาใหม่สำหรับมะเร็งออสทีโอซาร์โคมา
Mifamurtide หรือที่เรียกว่า Mepact เป็นการรักษารูปแบบใหม่ของการบำบัดทางชีวภาพ ตัวยาดังกล่าวอาจถูกเสนอให้บุตรของคุณหากพวกเขาได้รับการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกออกไปแล้ว และเซลล์มะเร็งไม่ได้แพร่กระจายไปที่ไหน ยาดังกล่าวจะได้รับพร้อมกับเคมีบำบัดหลังจากการผ่าตัดเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมากลับมาเป็นซ้ำ Mifamurtide เป็นตัวยาที่ค่อนข้างใหม่และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับผลข้างเคียงและวิธีใช้ให้ดีที่สุด
ผลข้างเคียงของการรักษา
การรักษามักทำให้เกิดผลข้างเคียง และแพทย์ประจำตัวบุตรหลานของท่านจะพูดคุยปรึกษาเรื่องนี้กับท่านก่อนเริ่มการรักษา ผลข้างเคียงใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับการรักษาที่บุตรหลานของคุณได้รับ และขึ้นกับว่าส่วนใดของร่างกายที่กำลังได้รับการรักษา
ผลข้างเคียงของเคมีบำบัด
ผลข้างเคียงทั่วไปของการรักษาด้วยเคมีบำบัด ได้แก่:
ผลข้างเคียงของการฉายรังสีรักษา
การฉายรังสีรักษาอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการทำลายบริเวณผิวหนังในบริเวณที่กำลังรับการรักษา และอาจเกิดความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อโดยทั่วไป
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด
หากบุตรของท่านเข้ารับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะอธิบายถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดที่บุตรหลานของท่านจะได้รับ
ผลข้างเคียงในระยะยาว
เด็กน้อยคนจะเกิดผลข้างเคียงในภายหลังหรือระยะยาว ได้แก่ การเจริญเติบโตของกระดูกล่าช้าและด้อยลง เข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์ช้าหรือไม่สมบูรณ์ ความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งอีกชนิดอื่นในชีวิต ภายหลัง
แพทย์ประจำตัวหรือทีมผู้ดูแลรักษาบุตรหลานของคุณจะพูดคุยกับคุณและติดตามบุตรหลานของคุณเพื่อตรวจถึงผลข้างเคียงที่เป็นไปได้
การทดลองทางคลินิก
เด็กหลายคนได้รับการรักษาและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองวิจัยทางคลินิก หากเด็กมีภาวะโรคและสภาวะโดยทั่วไปเหมาะสม การทดลองมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มและพัฒนาความเข้าใจในวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาโรคต่าง ๆ โดยเปรียบเทียบการรักษามาตรฐานกับการรักษารูปแบบใหม่หรือที่ได้รับการพัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ดำเนินการทดลองสำหรับเด็กโรคมะเร็ง ถ้าจำเป็นทีมแพทย์ของบุตรหลานของคุณจะพูดคุยกับคุณเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการทดลองทางคลินิกและจะตอบทุกคำถามที่คุณมี จะมีการให้เอกสารข้อมูลเพื่อช่วยในการอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
การมีส่วนร่วมในการทดลองวิจัยเป็นไปโดยการสมัครใจเท่านั้น และคุณจะได้รับโอกาสมากมายในการตัดสินใจว่าเหมาะสมกับบุตรหลานของคุณหรือไม่ แพทย์ประจำตัวของเด็กสามารถบอกคุณได้ว่ามีการทดลองใดบ้างที่เหมาะกับบุตรของคุณ
แนวทางการรักษา
บางครั้งการทดลองทางคลินิกไม่อาจทำในเด็กบางคน เนื่องจากอาจเป็นเพราะการทดลองล่าสุดเพิ่งเสร็จสิ้นไป หรือเนื่องจากเนื้องอกหายากมากจึงมีจำนวนผู้ป่วยเข้าร่วมไม่เพียงพอ ในกรณีดังกล่าว คุณสามารถคาดหวังได้ว่าแพทย์ประจำตัวของคุณยังจะให้การรักษาที่ดีที่สุดอย่างสุดความสามารถซึ่งสอดคล้องกับความเหมาะสมโดยใช้แนวทางที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกจัดวางแนวทางไว้
การติดตามผลการรักษา
หลังจากการรักษา เด็กหลายคนที่เป็นมะเร็งออสทีโอซาร์โคมาจะหายขาดจากโรค อย่างไรก็ตาม บุตรหลานของคุณอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพิ่มเติมเพื่อยืดแขนที่ได้รับผลกระทบขณะที่พวกเขาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ บุตรหลานของท่านจะได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีและทำการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์อยู่เสมอ
ขอขอบคุณข้อมูล:honestdocs.co