มะเร็งกระดูก

การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก

Views

  เมื่อเป็นมะเร็งที่ใดที่หนึ่งในร่างกายและมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายเช่นกระดูกจะเรียกว่าการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก ในบางครั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก มักจะถูกเรียกว่ามะเร็งกระดูก แต่จริงๆแล้วเป็นการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากตัวมะเร็งหลักมาที่กระดูก

     ซึ่งมะเร็งหลักที่มักจะมีการแพร่ กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งธัยรอยด์ เป็นต้น หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด multiple myeloma ที่มีการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวอย่างควบคุมไม่ได้ที่กินเข้ากระดูก การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูกบางครั้งเกิดขึ้นใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายปีหลังจากการวินิจฉัยมะเร็งหลัก ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาที่หลากหลายที่ช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจาก การแพร่กระจาย ของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก

อาการและอาการแสดง

     อาการปวด เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก ซึ่งอาการมักจะทรุดลงเมื่อทำกิจกรรมในตอนกลางวัน หรืออาจเป็นในตอนกลางคืนหรือช่วงเวลาพักผ่อน เป็นต้น การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของกระดูกหักได้ ซึ่งการหักของกระดูกอาจเป็นอาการแรกที่นำมาได้ กระดูกบริเวณแขนและขา และกระดูกสันหลังเป็นบริเวณที่มีการหักได้บ่อย และถ้ามีการหักของกระดูกสันหลังอาจทำให้เกิดเป็นกระดูกทับไขสันหลังได้ ซึ่งอาการที่พบคือ มีอาการปวดหลัง อาการชาหรืออ่อนแรง

     แขนขา มีความผิดปกติของระบบขับถ่ายและลำไส้ ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูกยังมีการปล่อยสารแคลเซียมออกมาในกระแสเลือด ซึ่งทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น ทำให้มีอาการไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ ท้องผูก เหน็ดเหนื่อยง่ายหรือมีอาการสับสน ซึ่งอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เช่นกัน

การรักษา

เป้าหมายหลักของการรักษาการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูกคือ ลดอาการปวด และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ยืนยาว

  • การให้ยาในกลุ่ม bisphosphonates เพื่อชะลอการสูญเสียของมวลกระดูกจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งลดโอกาสการหักของกระดูกและลดอาการปวดได้
  • การให้ยาเคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมน เพื่อทำลายเซลล์ มะเร็งหรือหยุดไม่ให้มันโต ซึ่งการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ต้องได้รับการพิจารณาหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง
  • โดยทั่วไป การรักษาการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปที่กระดูกนั้น ไม่ใช่เป็นการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดเพียง แต่เป็นการควบคุมการแพร่กระจายไปที่กระดูก ลดอาการปวดและให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รังสีรักษาสำหรับการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก

     การรักษาด้วยรังสี เป็นการใช้รังสี x-ray ที่มีพลังงานสูงมาทำลาย เซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยรังสีในการรักษาการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูกนั้น ประสิทธิภาพของรังสีที่ช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยอาจเริ่มรู้สึกปวดลดลงได้ ในช่วงการรักษาแต่ช่วงที่การตอบสนองของรังสีจะดีที่สุดอาจใช้เวลาประมาณหลายวันจนถึงเป็นสัปดาห์หลังจากที่ได้รับการฉายรังสี

     การฉายรังสีเป็นการฉายรังสีจากภายนอกร่างกายไปยังบริเวณตำแหน่งที่ต้องการรักษา นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเภสัชรังสีเข้าไปจับกับเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่กระดูกโดยตรง ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ในบางราย

รังสีรักษา

     การรักษาด้วยรังสี เป็นการใช้รังสีมาทำลายเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้รังสียังทำลายเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งตายได้ด้วย หลังจากฉายรังสีครบแล้ว ร่างกายจะกำจัดเซลล์ที่ถูกทำลายโดยรังสีทิ้งไป โดยที่เซลล์ปกติที่ได้รับรังสีจะฟื้นฟูตัวเองกลับมาเป็นปกติ

     การฉายรังสีเป็นการรักษาที่ไม่รุนแรงและไม่เจ็บ ผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่กระดูก ที่มารับการรักษาสามารถเดินทางไปกลับโรงพยาบาลได้ โดยฉายรังสีทุกวันวันจันทร์ถึงศุกร์ ระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ ในบางครั้งมีการฉายรังสีเพียง 1 ครั้งโดยที่ใช้ปริมาณรังสีมาก เรียกว่า Stereotactic radiosurgery (SRS) หรือฉายรังสีที่ใช้ปริมาณรังสีที่น้อยลงมา โดยฉาย 2-3 ครั้ง เรียกว่า Stereotactic body radiotherapy (SBRT) ซึ่งการเลือกใช้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เช่นกัน

     ก่อนการฉายรังสีทุกครั้งจะต้องมีการวางแผนและจำลองการฉายรังสี (Simulation) โดยทีมวางแผนการฉายรังสี เพื่อให้ได้ความถูกต้องในทุกๆวันที่ฉายรังสี โดยผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่าเดิมทุกวันตลอดการฉายรังสี โดยมีการเครื่องเอกซเรย์ ( x-ray) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)  มาช่วยในการวางแผนและจำลองการฉายรังสี

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี

  • อาการอ่อนเพลีย เป็นผลข้างเคียงที่เกิดบ่อยที่สุด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางถึงสัปดาห์สุดท้ายของการรักษา
  • ขนบริเวณที่ฉายรังสีร่วง ซึ่งเกิดจากการฉายรังสีบริเวณนั้น โดยที่ขนสามารถขึ้นมาได้ใหม่หลังจากฉายรังสีครบ โดย ผมจะไม่ร่วง ถ้าไม่ได้รับการฉายรังสีที่บริเวณศีรษะ
  • มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี โดยที่จะกลับมาเป็นปกติได้หลังจากฉายรังสีครบ
  • ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉายรังสีจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ขึ้นกับตำแหน่งของการฉายรังสี โดยจะมีแพทย์ และพยาบาลติดตามอาการอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอในระหว่างการฉายรังสี

การดูแลตัวเองระหว่างการฉายรังสี

  • การดูแลตัวเองในระหว่างการฉายรังสีถือเป็นเรื่องสำคัญ การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับร่างกายและการพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นต้น โดยสามารถขอคำแนะนำเรื่องอาหารเสริมจากแพทย์ผู้รักษาได้ในระหว่างการฉายรังสี
  • การดูแลผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีจากการฉายรังสีครบ ควรหลีก เลี่ยงการโดนแสงแดด ความร้อนหรือเย็นจัด หรือโลชั่นโดยปราศจากแพทย์แนะนำ ควรทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำอุ่นและสบู่อ่อนๆ

บทบาทของการผ่าตัด

  • ในกรณีที่การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่นอกส่วนตัวกระดูกสันหลัง แพทย์มักจะพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งอยู่ออกก่อน จากนั้นจึงมาพิจารณาฉายรังสีหลังการผ่าตัด ซึ่งจะเริ่มฉายรังสี 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัดเพื่อรอให้แผลดีก่อน
  • ส่วนในกรณีที่การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมาที่ในส่วนตัวกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจทำให้กระดูกยุบตัวได้ ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผ่าตัดกระดูก อาจพิจารณาผ่าตัดหรือใส่สารยึดติด เพื่อยึดกระดูกไว้ ซึ่งสามารถลดอาการปวดได้

ขอขอบคุณข้อมูล:feidathai.com

Leave a Reply