การตรวจวิธีนี้มีข้อเด่นที่ดีกว่าการขูดมดลูก คือ แพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพของโพรงมดลูกได้โดยตรง ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยรายที่มีพยาธิสภาพอยู่กันเป็นกระจุก (Focal lesion) ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับวินิจฉัยโรค และยังสามารถให้การรักษาโรคไปพร้อมกันในครั้งเดียว เช่น การตัดติ่งเนื้อในโพรงมดลูก การตัดเนื้องอกมดลูก หรือการเอาห่วงอนามัยที่ติดค้างในโพรงมดลูกออก แต่ข้อจำกัดของการใช้กล้องส่องโพรงมดลูก คือจะไม่สามารถวินิจฉัยโรคที่อยู่ในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก หรือ ในท่อนำไข่ได้ แพทย์มีการแนะนำให้ทำการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกในผู้ป่วยที่มีอาการ ดังต่อไปนี้
1. สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ ทั้งในด้านปริมาณ และ/หรือระยะเวลา
2. สตรีที่ได้รับการตรวจอัลตร้าซาวนด์มดลูกแล้วสงสัยว่ามี เนื้องอก หรือ มีติ่งเนื้อภายในโพรงมดลูก
3. สตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีเลือดออกจากโพรงมดลูก (เลือดออกทางช่องคลอด) และหลังได้ทำการดูดชิ้นเนื้อโพรงมดลูก หรือขูดมดลูกแล้ว ยังมีเลือดออกอีกหลังการรักษา
4. สตรีที่มีมดลูกผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นในโพรงมดลูก (Septate uterus)
5. สตรีที่มีประจำเดือนออกมาก โดยไม่พบพยาธิสภาพจากการตรวจภายนอกมดลูก แพทย์สามารถส่องกล้องเข้าไปในโพรงมดลูกและทำการทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก หรือตัดเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อไม่ให้มีประจำเดือน
6. สตรีที่มีบุตรยากร่วมกับประวัติมีประจำเดือนมาน้อยมาก หรือไม่มีประจำเดือน หลังจากได้รับการขูดมดลูก คาดว่าน่าจะเกิดมีพังผืดในโพรงมดลูก (Asherman’s syndrome)
7. สตรีที่ใส่ห่วงอนามัยมานานและไม่สามารถดึงสายห่วงออกได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากมีเนื้อเยื่อในโพรงมดลูกไปหุ้มห่วง หรือมีบางส่วนของห่วงทะลุผนังมดลูก แพทย์จึงต้องส่องกล้องเข้าไปคีบเอาห่วงอนามัยออกมา
8. สตรีที่มีภาวะแท้งบุตร แท้งซ้ำ ร่วมกับตรวจทางอัลตร้าซาวนด์มดลูกพบว่ามีเนื้องอกหรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
การเตรียมตัวก่อนไปส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
ในการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างเดียว หรือเพื่อหาสาเหตุของโรค สามารถทำที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวชได้ ไม่ต้องงดข้าว งดน้ำ เพราะอุปกรณ์ในการตรวจเพื่อวินิจฉัย จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกล้องเล็กกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัด
แต่หากแพทย์ต้องทำการผ่าตัดพยาธิสภาพในโพรงมดลูก ผู้ป่วยจำเป็นต้อง งดข้าว งดน้ำ 6 ชั่วโมงก่อนไปทำการรักษาด้วยการส่องกล้องตรวจทางโพรงมดลูก ระยะเวลาในการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกขึ้นกับหัตถการที่ทำ หากเป็นการส่องกล้องเพื่อการวินิจฉัยโรค จะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10-30 นาที หากเป็นการผ่าตัด ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความยากง่าย ขนาดของเนื้องอก หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดจะใช้เวลานานกว่า โดยทั่วไประยะเวลาเมื่อนับเฉพาะตอนผ่าตัด (ไม่นับรวมการเตรียมอุปกรณ์ การขยายปากมดลูก) มักจะทำหัตถการนานไม่เกิน 1 ชั่วโมง
บางครั้งอาจต้องนัดผู้ป่วยมาทำการผ่าตัดครั้งที่ 2 ในครั้งถัดไป หลังจากการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก ในกรณีที่เป็นการวินิจฉัยโรค ไม่ได้ดมยาสลบ ผู้ป่วยอาจไม่ต้องพักงาน กลับไปทำงาน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากเป็นการผ่าตัด มีการเสียเลือดมาก และต้องดมยาสลบด้วย แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยพักดูแลตนเองที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ป่วย จะให้คำแนะนำผู้ป่วยในเรื่องนี้เป็นกรณีๆ ไป
ข้อห้ามหลังการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
หลังได้รับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกแล้ว ต้องงดกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบโพรงมดลูก ประมาณ 2 สัปดาห์ จนกว่าจะไม่มีอาการเจ็บปวดที่ช่องคลอด ที่ท้องน้อย ตกขาว และ/หรือเลือดออกทางช่องคลอด กิจกรรมที่ต้องงด ได้แก่
• สวนล้างช่องคลอด
• มีเพศสัมพันธ์
• อาบน้ำในอ่างอาบน้ำ
• ว่ายน้ำ
• การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon)
ข้อห้ามในการส่องกล้องโพรงมดลูก
อย่างไรก็ตาม การตรวจรักษาด้วยวิธีส่องกล้องโพรงมดลูก จะไม่ทำในกรณีต่อไปนี้ คือ
• สตรีที่อยู่ในสภาวะการตั้งครรภ์
• มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรือมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรง
• พบเชื้อมะเร็งปากมดลูก
การดูแลตนเองหลังจากส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
หลังได้รับการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องแล้ว ควรสังเกตสิ่งที่จะเกิดขึ้นและสามารถดูแลตนเองได้ ดังนี้
• การมีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอดหลังผ่าตัด/ส่องกล้องฯ ถือเป็นเรื่องปกติ บางครั้งอาจเห็นเศษเนื้อจากที่ทำการผ่าตัดที่ค้างในโพรงมดลูกหลุดออกมาด้วย ซึ่งอาจมีเลือดออกมาได้นาน ประมาณ 5-7 วันหลังการตรวจ
• อาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณมดลูก ซึ่งสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ได้
• ห้ามทำการสวนล้างช่องคลอด
ภาวะแทรกซ้อนจากการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกมีอะไรบ้าง ?
โดยทั่วไปภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกจะเกิดขึ้นน้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น
• ปากมดลูกฉีกขาด เนื่องจากการขยายปากมดลูก
• มดลูกทะลุขณะใส่เครื่องมือเข้าไปในโพรงมดลูก หรือ ทะลุขณะผ่าตัดเนื้องอกในโพรงมดลูก
• ร่างกายเกิดการเสียสมดุลของสารน้ำและเกลือแร่ ความรุนแรงมีตั้งแต่ในระดับน้อยๆ คือ ไม่มีอาการ จนถึงมีอาการมาก เช่น ชัก หัวใจเต้นผิดปกติ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
• เลือดออกมากจากมดลูก หรือเลือดออกมากทางช่องคลอด
• มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก (เยื่อบุมดลูกอักเสบ)
หากพบความผิดปกติหลังการผ่าตัดต้องกลับไปพบแพทย์หรือต้องไปโรงพยาบาลก่อนนัด เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดมากหรือนานกว่าปกติ, ปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ, ตกขาวเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น และมีไข้สูง หนาวสั่น เป็นต้น อย่าเพิกเฉยหรือปล่อยทิ้ง หรือทนความเจ็บปวดไว้นานเกินจนกระทั่งลุกลามเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ถ้าหากไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยควรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางโรงพยาบาลทันที
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :
ศูนย์โรคกระดูกและข้อ ชั้น 1 อาคาร A โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา
เปิดบริการตั้งแต่เวลา 7.30 น. เป็นต้นไป
โทร. : 038-317-333 ต่อ 2174, 2178 หรือ 087-8600002
ขอขอบคุณข้อมูล:phaythai-sriracha.com