หลอดอาหารเป็นอวัยวะที่นำอาหาร และน้ำ จากคอไปยังกระเพาะอาหาร มีความยาวประมาณ 10 นิ้ว “โรคมะเร็งของหลอดอาหาร” เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก จัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันอับ 10 ในเพศชาย และส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุ 55-65 ปี ซึ่งถ้าหากเกิดโรคร้ายกับอวัยวะส่วนนี้แล้ว แน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่ออวัยวะของร่างกายโดยรวมแน่นอน
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งหลอดอาหาร
-ผู้ที่ดื่มสุรา และสูบบุหรี่
-ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีสาร ไนโตรซามีน ได้แก่อาหารหมักดอง แหนม ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็มตากแห้งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
-ผู้ที่มีการอักเสบ ระคายเคืองเรื้อรังของหลอดอาหาร จากการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร้อนจัดเป็นประจำ หรือผู้ที่ภาวะกรดไหลย้อนเรื้อรัง
แม้ว่ามะเร็งหลอดอาหารจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ผู้ที่มีสุขลักษณะการกินดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นควรหมั่นสังเกตุความผิดปกติของร่างกาย
อาการของมะเร็งหลอดอาหาร
-กลืนอาหารลำบาก
-เจ็บขณะกลืนอาหาร หรือรู้สึกเหมือนมีอาหารติดคอ
-น้ำหนักลด เนื่องจากรับประทานอาหารได้น้อย
-ไอ สำลักขณะรับประทานอาหาร หรืออาจมีเสมหะปนเลือดออกมาด้วย
-เสียงแหบ หายใจไม่สะดวก
»»หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่หมอจะได้ทำการวินิจฉัยโรคต่อไป
การตรวจวินิจฉัย หมอจะทำการซักประวัติของคนไข้ว่ามีอาการ หรือมีโอกาสอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นหรือไม่ โดยการส่องกล้องเข้าไปดูในหลอดอาหารว่ามีแผล หรือมีลักษณะของการเป็นมะเร็งเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งข้อดีของการส่องกล้องก็คือ ทำให้รู้ว่าเกิดขึ้นตรงไหนแล้วสามารถประเมินการรักษาได้ถูกต้อง โดยการตัดชิ้นเนื้อนั้นไปตรวจสอบว่าเป็นเนื้อของมะเร็งหรือไม่
การรักษา เบื้องต้นหมอจะทำการประเมินก่อนว่าโรคที่เป็นมีการลุกลามหรือยัง ถ้ายังไม่ลุกลามก็จะทำการรักษาโดยการผ่าตัด โดยประเมินจากการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นหลัก เพื่อต้องการทราบว่ามีการลุกลามไปที่ปอด หรือตับ ด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีการลุกลามไปแล้ว การรักษาก็จะเป็นการฉายแสงพร้อมกับการใช้เคมีบำบัด
การดูแลรักษาหลังการผ่าตัด การผ่าตัดจะทำการตัดหลอดอาหารทิ้ง แล้วใช้กระเพาะเข้าไปทดแทน ดังนั้นเรื่องการถนัดจะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากกระเพาะจะย่อยอาหารได้ไม่ดี การกลืนก็จะลำบาก มีการติดขัด ดังนั้นการแก้สามารถทำได้โดยการพยายาม ทานทีละน้อยๆ แต่ทานบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว โดยต้องใช้ระยะเวลาสักพักเพื่อให้ร่างกายได้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ
ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งหลอดอาหารจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตแตกต่างไปจากปกติแน่นอน ดังนั้นแล้ววิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลมะเร็งหลอดอาหาร ก็คือหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง เช่นบุหรี่ การดื่มสุรา หรือการเกิดกรดไหลย้อนซ้ำๆ ถ้าเราหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้โอกาสที่จะเป็นมะเร็งก็จะลดน้อยลง
ขอขอบคุณข้อมูล:สาระเร็ว.com