นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์ในเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ถึงกรณีพบผู้ป่วยคนไทยมีอาการ “ลมขึ้นสมอง” จากการปิดปากและจมูกด้วยมือขณะจาม และแนะนำว่าอย่าเอามือปิดปากและจมูกขณะจาม แม้จะใส่หน้ากากอนามัย เพราะลมหายใจจากการจามสามารถผ่านทะลุหน้ากากอนามัยได้เช่นกัน
หมอมนูญระบุว่า “ลมเข้าสมองจากการเอามือปิดจมูกปิดปากขณะจาม รายแรกของโลกเกิดขึ้น 2 ครั้งในเวลาห่างกัน 3 ปีกว่า
ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 85 ปี เป็นโรคเบาหวานและไขมันสูง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 มาโรงพยาบาลด้วยอาการพูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง หลังจากจามแล้วเอามือปิดจมูกปิดปากพร้อมๆกัน ได้ทำ MRI คลื่นแม่เหล็กสมอง พบมีลม (air pocket) ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 7 × 4 × 3.2 เซนติเมตร ให้การรักษาตามอาการ ผู้ป่วยดีขึ้นช้าๆ และกลับมาเป็นปกติ ทำคอมพิวเตอร์สมองซ้ำ ลมคงค่อยๆดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด หายไปเองภายใน 50 วัน ได้เตือนผู้ป่วยเวลาจามห้ามเอามือมาปิดจมูกและเม้มปากอีกเด็ดขาด
วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ผู้ป่วยกลับมารพ. อีกครั้งหลังจากจามแล้วเอามือปิดปากปิดจมูกเพราะไม่อยากให้มีเสียงดัง หลังทำมีอาการพูดไม่ชัด หน้าข้างขวาเบี้ยว หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง ทำคอมพิวเตอร์สมองพบลม (air pocket) ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 5.1 × 4.1 × 2.8 เซนติเมตร (ดูรูป) ตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อ 3 ปี 5 เดือนก่อน แต่ปริมาตรของลมในเนื้อสมองครั้งนี้น้อยกว่า ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล 4 วัน อาการดีขึ้นช้าๆ กลับบ้านได้
สาเหตุของลมเข้าสมองทั้ง 2 ครั้งของผู้ป่วยรายนี้ คือจามแล้วเอามือปิดจมูกปิดปากพร้อมๆกัน ปกติความแรงของการจามทำให้ลมพุ่งออกจากจมูกและปากด้วยความเร็วสูงถึง 110 กม/ชม เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ปิดจมูกปิดปากขณะจาม แรงดันในช่องปากคงสูงมาก ลมผ่านจากท่อในปากเข้าหูชั้นกลางด้านซ้าย แล้วดันทะลุผ่านกะโหลกใต้สมองเข้าเนื้อสมองด้านซ้าย
นอกจากลมจะรั่วเข้าสมองจากการบังคับไม่ให้จามออกทางปากและจมูกแล้ว ยังมีรายงานแรงดันสูงทำให้ปอดรั่ว แก้วหูทะลุ ผนังช่องคอทะลุ เส้นเลือดในสมองแตกได้อีกด้วย
เพราะฉะนั้นอย่าทำร้ายตัวเองด้วยการเอามือมาปิดจมูกและปากขณะจามเด็ดขาด จามขณะใส่หน้ากากอนามัยไม่เป็นอันตราย เพราะลมสามารถผ่านหน้ากากได้”
AdvertisementReplay Ad
ทางด้านเพจ Drama-Addict ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า วิธีป้องกันการฟุ้งกระจายของละอองน้ำลายขณะจามที่องค์การอนามัยโลกยังแนะนำ นอกจากสวมหน้ากากอนามัยแล้ว ในกรณีที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยอยู่ สามารถจามใส่ข้อพับด้านในข้อศอกของตัวเองได้ เพราะนอกจากจะช่วยลดการฟุ้งกระจายของละอองน้ำลายแล้ว ยังไม่ทำให้นิ้วมือสัมผัสกับละอองน้ำลายจนสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่สิ่งของและผู้อื่นต่อได้ด้วย แต่ให้เอาปากและจมูก “อัง” ใกล้ๆ กับข้อศอกก็เพียงพอ ไม่ต้องปิดปากและจมูกจนแน่นสนิท
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย,เฟซบุ๊กเพจ Drama-Addict
ภาพ :iStock
ขอขอบคุณhttps://www.sanook.com/