“กรดไหลย้อน” (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD)อาการปวดแสบร้อนบริเวณกลางอกไปจนถึงใต้ลิ้นปี่หลังรับประทานอาหาร แถมยังมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและลำคอ ซึ่งถือว่าโรคยอดฮิตของคนใช้ชีวิตเร่งรีบ ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่ชอบรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว รับประทานอาหารเสร็จแล้วชอบเอนหลังหรือนอนทันที ชอบรับประทานอาหารครั้งละมากๆ ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจนทำให้มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ชอบดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ รวมไปถึงสตรีมีครรภ์ก็มักจะเป็นโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
แม้ว่ากรดไหลย้อนจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะโรคกรดไหลย้อนสามารถกำเริบขึ้นมาได้หากเรามีพฤติกรรมการรับประทานอาหารและใช้ชีวิตแบบผิดๆ ดังนั้นเราควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตเพื่อเป็นการป้องกันและการรักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้กรดไหลย้อนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว ด้วยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี ไม่ให้รู้สึกอิ่มมากเกินไป เพราะการรับประทานอาหารอิ่มมากเกินไปจะทำให้เกิดแรงดันที่หูรูด ซึ่งจะทำให้โรคกรดไหลย้อนได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด อาหารมัน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนย
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ โกโก้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะเพิ่มปริมาณการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว เกิดเป็นกรดไหลย้อนขึ้นมาได้
- ไม่ควรดื่มน้ำบ่อยและดื่มปริมาณมากๆ ในขณะรับประทานอาหารอยู่
- อย่ารับประทานอาหารเร็วเกินไป เพราะจะทำให้เกิดแรงดันในกระเพาะอาหาร
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อไม่ให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก
- ห้ามนอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนล้มตัวลงนอน
- ห้ามออกกำลังกายหลังรับประทานเสร็จ ควรเว้นระยะเวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงเพื่อให้อาหารย่อยอย่างเต็มที่
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินมีส่วนกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนได้
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งหลังรับประทานอาหาร
- สวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ เพราะความเครียดส่งผลให้ร่างกายมีการหลั่งกรดมาขึ้น ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
- พักผ่อนให้เพียงพอและหาวิธีปรับหัวเตียงนอนให้สูงขึ้นจากพื้นราบประมาณ 6 – 10 นิ้วเพื่อลดอาการกรดไหลย้อน ทั้งนี้ไม่ควรนอนหมอนสูง เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้นและไม่สามารถลดอาการกรดไหลย้อนได้ด้วย
- ในกรณีที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หากเกิดโรคกรดไหลย้อนแล้วสามารถปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อรับประทานยาลดกรดไหลย้อนได้
ขอขอบคุณhttps://health.mthai.com/