มะเร็งตับ (Liver Cancer) เกิดขึ้นเมื่อเซลล์บริเวณตับมีลักษณะหรือการทำงานผิดปกติแล้วพัฒนาเป็นมะเร็งในที่สุด หรืออาจเกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากบริเวณอื่นมายังตับก็ได้ ซึ่งมะเร็งตับส่วนใหญ่ก็มักมีที่มาจากสาเหตุหลังนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมักไม่แสดงอาการจนกว่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา
อาการโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับมักไม่มีสัญญาณหรืออาการบ่งบอกในระยะแรกเริ่ม จนเมื่อมะเร็งพัฒนาถึงขั้นแสดงอาการจึงจะสังเกตได้ดังนี้
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไม่อยากอาหาร รู้สึกอิ่มแม้รับประทานไปเพียงเล็กน้อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เจ็บช่องท้องส่วนบน โดยมักจะปวดบริเวณด้านขวา
- มีอาการบวมที่ช่องท้องหรือคลำพบก้อนใตชายโครงด้านขวา เนื่องจากตับโต
- อาจคลำพบก้อนที่ชายโครงด้านซ้ายเนื่องจากม้ามโต
- ผิวหนังและตาเหลือง (ดีซ่าน)
- อุจจาระอาจมีสีซีดลง
- อ่อนแรงและเหนื่อยล้า
- มีอาการคัน
- เป็นไข้
สาเหตุโรคมะเร็งตับ
มะเร็งที่ตับเกิดขึ้นจากการที่ดีเอ็นเอในเซลล์ตับเกิดการกลายพันธุ์จนทำให้โครงสร้างเซลล์เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เซลล์เติบโตขึ้นอย่างผิดปกติและพัฒนาเป็นเนื้องอกในที่สุด สาเหตุหลักของการการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้ดังต่อไปนี้
- เพศ พบอัตราการเป็นมะเร็งตับในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง
- ผู้ป่วยเป็นโรคชนิดอื่นที่สัมพันธ์หรือสามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับ ได้แก่
- โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี ที่สร้างความเสียหายต่อตับอย่างถาวรและทำให้ตับวายได้
- โรคตับแข็ง กว่าครึ่งของผู้ป่วยมะเร็งตับเป็นโรคตับแข็งร่วมด้วย
- โรคเบาหวาน
- มะเร็งตับอาจสัมพันธ์กับโรคอ้วน และโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุราได้ด้วย
- โรคตับที่สืบทอดทางพันธุกรรมที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ ภาวะธาตุเหล็กในตับมากเกิน (Hemochromatosis) ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson’s Disease)
- การสัมผัสสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxins) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากเชื้อราตามเมล็ดข้าวโพดหรือถั่วที่เก็บรักษาไม่ดีจนทำให้เกิดเชื้อรา การได้รับอาหารปนเปื้อนเชื้อราจึงเสี่ยงต่อการได่รับสารพิษชนิดนี้และเกิดเป็นมะเร็งตับ ซึ่งพื้นที่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียบางส่วนอาจพบการปนเปื้อนจากเชื้อราชนิดนี้
- การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินควร พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากเป็นเวลาติดต่อหลายวันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตับอย่างต่อเนื่องและเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบอยู่แล้วและมีพฤติกรรมสูบบุหรี่จะยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งตับยิ่งขึ้น
- การได้รับสารเคมีอันตรายจากยากำจัดวัชพืช เช่น สารไวนิล คลอไรด์ (Vinyl Chloride) และสารหนู (Arsenic) ที่อาจพบได้บ่อน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เมื่อได้รับเป็นเวลานานอาจเกิดการสะสมจนเกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย ไม่เว้นแม้แต่มะเร็งตับ
- การใช้อนาโบลิคเสตียรอยด์ (Anabolic steroids) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่นักกีฬามักใช้เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ หากใช้เป็นเวลานานจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ รวมถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วย
- เชื้อชาติ พบผู้ป่วยโรคตับแข็งที่เป็นชาวเอเชีย ชาวอเมริกัน และชาวเกาะแปซิฟิค ได้บ่อยกว่าชาติอื่น ๆ
การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
เบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติและปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยต่อการเป็นโรคมะเร็งตับ แล้วตรวจร่างกายด้วยการคลำสัมผัสหรือเคาะท้องเพื่อตรวจตับ หลังจากนั้นจึงส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและชัดเจน โดยอาจมีวิธีการดังต่อไปนี้
- การตรวจเลือดเพื่อตรวจมะเร็งตับ (Alfa-fetoprotein: AFP) เป็นวิธีตรวจหาค่าโปรตีนที่ผลิตจากเนื้องอกตับ สามารถตรวจหามะเร็งตับในผู้ป่วยได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจะมีค่าเอเอฟพีสูงกว่าปกติ
- การถ่ายภาพตับ การวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน (CT scan) หรือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นตำแหน่งของมะเร็งและปริมาณของเลือดที่มาหล่อเลี้ยงมะเร็งได้อย่างชัดเจน โดยการตรวจด้วยวิธีนี้มักยากที่จะหาแผลหรือรอยโรคที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซ็นติเมตร
- การเจาะชิ้นเนื้อตับ (Liver Biopsy) ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างจากก้อนที่สงสัยที่ตับเพื่อส่งตรวจเพิ่มเติมว่าจะเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ในกรณีที่ผลตรวจการถ่ายภาพและการตรวจทางแล็บระบุแน่นอนแล้วว่าเป็นมะเร็งตับก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจอีก เนื่องจากวิธีนี้อาจเสี่ยงทำให้ติดเชื้อ มีเลือดออก หรือเกิดการแพร่เชื้อของมะเร็งไปยังส่วนอื่น ๆ ที่ถูกเข็มเจาะด้วย ซึ่งโอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อผ่านเข็มดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ 1-3 เปอร์เซ็นต์ และหากการตรวจชนิดนี้ยังวินิจฉัยไม่ได้แน่ชัด แพทย์อาจจะตรวจด้วยการถ่ายภาพซ้ำอีกครั้ง โดยเว้นระยะห่างการตรวจ 3-6 เดือน
การรักษาโรคมะเร็งตับ
วิธีการรักษาโรคมะเร็งตับขึ้นอยู่กับระยะอาการและการแพร่กระจายของมะเร็ง แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาที่ทำได้ โดยพิจารณาจากอายุและสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของตัวผู้ป่วยประกอบด้วย
การผ่าตัด (Surgical Resection) ในระยะเริ่มแรก เมื่อเนื้องอกยังมีขนาดเล็กและอยู่ในส่วนเล็ก ๆ ของตับ การรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่มีมะเร็งออก ปกติแล้วเซลล์ตับสามารถสร้างขึ้นใหม่เอง จึงอาจเป็นไปได้ที่การผ่าตัดชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ออกไปจะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้ป่วย
แต่ก็มีผู้ป่วยมะเร็งตับจำนวนมากที่มีความสามารถในการสร้างเซลล์ใหม่ของตับแย่ลงมาก การผ่าตัดนี้จึงอาจไม่ปลอดภัย
การผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อร้ายออกจะทำระหว่างการดมยาสลบ แต่วิธีนี้อาจตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เลือดออกหลังการผ่าตัด มีการติดเชื้อ ภาวะหลอดเลือดขาและปอดอุดตัน ปอดบวม น้ำดีรั่วออกจากตับ ตับวาย อาการดีซ่าน เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบได้ หลังจากผ่าตัด แพทย์ต้องเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยต่อเนื่อง และใช้เวลาหลายเดือนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เต็มที่
การผ่าตัดเปลี่ยนตับ แพทย์จะเปลี่ยนถ่ายตับใหม่ที่ได้รับบริจาคแทนที่ตับที่มีมะเร็งให้กับผู้ป่วย โดยวิธีนี้สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะเริ่มแรกที่มีเนื้องอกขนาดเล็กและมีจำนวนไม่มาก ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอีกครั้งได้สูง
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนตับมีความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือติดเชื้อหลังผ่าตัด ปอดบวม ผลข้างเคียงจากยาสลบ รวมถึงภาวะต่อต้านตับที่ถูกเปลี่ยนถ่าย การติดเชื้อเนื่องจากระบบภูมิคุ้นกันหยุดทำงานซึ่งเป็นผลจากยาที่ต้องรับประทานหลังผ่าตัด และการเปลี่ยนถ่ายตับในประเทศไทยก็ยังทำได้น้อยอยู่
รังสีรักษา (Radiation Therapy) การรักษาด้วยการฉายรังสีพลังงานสูง เช่น รังสีเอกซเรย์และโปรตอนตรงไปยังเซลล์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งและทำให้เนื้องอกหดตัวเล็กลง การฉายรังสีอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่ตับและบริเวณรอบข้างได้ง่าย รวมถึงร่างกายอาจมีอาการอ่อนล้า คลื่นไส้ และอาเจียนได้
เคมีบำบัด (Chemotherapy) การให้ยารับประทานหรือฉีดยาฆ่าเซลล์มะเร็งไปยังหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง หรือเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง การทำเคมีบำบัดนี้ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการข้างเคียงที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการตอบสนองของคนไข้และชนิดของยา เช่นฟกช้ำง่าย อ่อนเพลีย คลื่นไส้และอาเจียน ผมร่วง ขาบวม เจ็บปาก และท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะคงอยู่เพียงชั่วคราว
Ablative Therapy การฆ่าเซลล์มะเร็งโดยการฉีดสารเข้าไปที่เนื้อร้ายโดยตรง สารที่ใช้ฉีดอาจเป็นความร้อน เลเซอร์ กรด หรือแอลกอฮอล์ชนิดพิเศษ หรืออาจใช้คลื่นวิทยุก็ได้ วิธีนี้สามารถใช้ในการรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัด
การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Drug Therapy) เป็นวิธีการใช้ยาเพื่อชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ โดยเจาะจงกับเซลล์ที่มีความผิดปกติมากขึ้นกว่าการทำเคมีบำบัดทั่วไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งตับ
นอกจากอาการที่ผู้ป่วยมะเร็งตับแสดงและผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการรักษาที่กล่าวไปแล้ว มะเร็งตับยังอาจสามารถแพร่กระจายไปสู่อวัยวะบริเวณอื่น ๆ เช่นตามต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะที่อยู่ห่างไกลออกไปหรือส่งผลให้มีเลือดออกภายใน เช่น ในระบบทางเดินอาหาร และก้อนเนื้องอกเกิดแตกได้ นอกจากนี้อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตับวาย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้ในระยะท้าย ๆ ของโรคมะเร็งตับ
การป้องกันโรคมะเร็งตับ
การป้องกันมะเร็งตับด้วยตนเองสามารถทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับ โรคตับแข็งเป็นโรคที่สัมพันธ์กับมะเร็งตับอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้เกิดแผลในตับจึงเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งที่ตับได้สูง
การป้องกันมะเร็งตับจึงควรลดปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่โรคตับแข็งไปด้วย ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ให้พอดี หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไปโดยรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปริมาณไขมันที่บริโภค รวมทั้งระมัดระวังการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อโรคตับแข็งตามมา
ไม่เพียงแต่โรคตับแข็งเท่านั้น โรคอื่น ๆ อย่างการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้
การป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และสามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กทารก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็ตาม ส่วนไวรัสตับอักเสบ ซี ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
การหลีกเลี่ยงการติดต่อเชื้อทั้ง 2 ชนิดจากผู้อื่นยังทำได้ด้วยการสร้างสุขอนามัยที่ดี เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น รวมถึงเข็มที่ใช้สักลายตามร่างกาย ควรเลือกร้านสักที่มั่นใจได้ถึงความสะอาดและสุขอนามัย เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกวิธีที่อาจทำได้ก็คือการเข้ารับการตรวจมะเร็ง แต่วิธีนี้ไม่อาจลดหรือป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้ เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวได้ในระยะต้น ๆ โดยทาง AASLD (The American Association for the Study of Liver Diseases) ได้แนะนำให้ผู้ที่คิดว่าตนเสี่ยงเป็นมะเร็งตับหรือมีภาวะใด ๆ ต่อไปนี้เข้ารับการตรวจมะเร็งตับ
- ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วม เช่น เป็นชาวเอเชียหรือแอฟริกัน ป่วยเป็นโรคตับแข็ง หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับ
- ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี พร้อมกับเป็นโรคตับแข็ง
- ผู้ป่วยโรคตับแข็งจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โรคไขมันพอกตับ โรคทางพันธุกรรมอย่างภาวะธาตุเหล็กในตับมากเกิน
- ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่เกิดหลังการคั่งของน้ำดี
ขอขอบคุณhttps://www.pobpad.com/