สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ แน่นอนว่าความกังวลใจเกี่ยวกับการดูแลครรภ์ย่อมเกิดขึ้น เพราะกว่าที่เจ้าตัวน้อยจะลืมตาออกมาดูโลกนั้นจะต้องอยู่ในท้องคุณแม่ถึง 9 เดือน ดังนั้นการใส่ใจดูแลครรภ์อย่างถูกวิธีคือสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและร่วมมือกันเพื่อให้เจ้าตัวน้อยคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง
รู้ทันพัฒนาการทารกในครรภ์
เดือนที่ 1 ทางการแพทย์จะเริ่มนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นวันแรกของการตั้งครรภ์และนับไปจนครบ 40 สัปดาห์เป็นวันคะเนกำหนดคลอด
เดือนที่ 2 (5 – 8 สัปดาห์)
- ตัวอ่อนในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 4 – 25 มิลลิเมตร
- รูปร่างโค้งงอ
- การตั้งครรภ์ยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด
- ตัวอ่อนเริ่มพัฒนาอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ระบบประสาท ตา แขนและขา
- ตรวจพบการเต้นของหัวใจของตัวอ่อนในครรภ์ช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไปจากการทำ
อัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดได้ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง
เดือนที่ 3 (9 – 12 สัปดาห์)
- ตัวอ่อนมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 2.5 – 7 เซนติเมตร
- แขนขาจะเริ่มปรากฏให้เห็นการเคลื่อนไหว
- ตา ปาก จมูก และหู เริ่มปรากฏให้เห็น
- สมองมีพัฒนาการไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลา
- ปลายเดือนอวัยวะต่าง ๆ พัฒนาเกือบครบทุกส่วน
เดือนที่ 4 (13 – 16 สัปดาห์)
- ทารกมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 7 – 12 เซนติเมตร
- ทารกโตขึ้นวันละ 2 – 3 มิลลิเมตร
- ใบหน้าตัวอ่อนเห็นชัดเจนขึ้น
- นิ้วมือนิ้วเท้าเห็นชัดเจน
- เริ่มฟังเสียงหัวใจทารกได้ด้วยเครื่องฟังเสียงหัวใจ
เดือนที่ 5 (17 – 20 สัปดาห์)
- ทารกมีความยาวจากหัวถึงเท้าประมาณ 16 – 25 เซนติเมตร
- ทารกมีน้ำหนักประมาณ 100 – 300 กรัม
- สามารถฟังหัวใจทารกเต้นได้ด้วยหูฟัง จากการฟังทางหน้าท้อง
- เริ่มมีขนตา ขนคิ้ว มีขนอ่อนปกคลุมทั่วตัวและหน้า
- หูทำงานเต็มที่เริ่มได้ยินเสียงแม่
- เปลือกตายังปิดสนิท
- คุณแม่จะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์
เดือนที่ 6 (21 – 24 สัปดาห์)
- ทารกมีความยาวประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร
- ทารกมีน้ำหนักประมาณ 300 – 600 กรัม
- ผมที่ศีรษะและคิ้วจะปรากฏชัดขึ้น
- ตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงมองเห็นเพศชัดเจน
เดือนที่ 7 (25 – 28 สัปดาห์)
- ทารกมีความยาวประมาณ 30 – 35 เซนติเมตร
- ทารกมีน้ำหนักประมาณ 600 – 1,000 กรัม
- ผิวทารกมีรอยย่น เริ่มมีไขมันใต้ผิวหนัง
- ศีรษะโต มีขนคิ้วและขนตา
- สามารถลืมตาและหลับตาได้แล้ว
- สามารถได้ยินเสียงจากภายนอก
- สะอึกได้
เดือนที่ 8 (29 – 32 สัปดาห์)
- ทารกมีความยาวประมาณ 35 – 40 เซนติเมตร
- ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1,000 – 1,600 กรัม
- ผิวหนังบางแดงและคลุมด้วยไข ยังเหี่ยวย่นอยู่
- ถ้าเป็นผู้ชายลูกอัณฑะจะเริ่มเลื่อนลงในถุง
เดือนที่ 9(33 – 36 สัปดาห์)
- ทารกมีความยาวประมาณ 40 – 45 เซนติเมตร
- ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1,600 – 2,500 กรัม
- ผิวหนังแดง รอยย่นเริ่มหายไป
- เริ่มดิ้นแรงจนสามารถเห็นความเคลื่อนไหวจากภายนอกได้
- ปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่
เดือนที่ 10(37 – 40 สัปดาห์)
- ทารกมีความยาวประมาณ 45-50 เซนติเมตร
- ทารกมีน้ำหนัก 2,500 กรัมขึ้นไป
- มีการสะสมไขมันมากขึ้น รอยย่นของผิวหนังหายไป
- เป็นระยะครบกำหนดคลอด
- ทารกอาจคลอดเมื่อไรก็ได้ระหว่างสัปดาห์ที่ 37 – 42 สัปดาห์
ดูแลครรภ์ให้ถูกวิธี
ฝากครรภ์สำคัญที่สุดเพื่อช่วย
- ดูแลรักษาสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ให้ดำเนินไปได้ด้วยดีตลอดการตั้งครรภ์และการคลอด
- คลอดบุตรที่มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์
- ลดอัตราตายและภาวะแทรกซ้อนของแม่และเด็ก
อาหารต้องเหมาะสม ได้แก่
- แคลอรี่ที่ต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
- เพิ่มโปรตีน แร่ธาตุ และวิตามิน
- เน้นเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ผัก และผลไม้
- งดอาหารรสจัด สุรา ยาเสพติด
- ไม่สูบบุหรี่
ใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ ได้แก่
- รักษาความสะอาด
- ใส่เสื้อผ้าให้หลวมสบาย
- ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง
- ดูแลรักษาฟัน ขูดหินปูน
- ดูแลหน้าท้อง ทรวงอก ระบบขับถ่าย
- มีเพศสัมพันธ์ด้วยท่าที่เหมาะสม ในกรณีที่ไม่มีข้อห้าม ตามคำแนะนำของแพทย์
- พักผ่อนนอนหลับวันละ 8 – 14 ชั่วโมง
- ขูดหินปูน
ออกกำลังกายและทำงานแบบพอดี ได้แก่
- ปฏิบัติงานประจำวันตามปกติ
- ไม่ควรทำงานหนัก
- ไม่ควรออกกำลังกายจนเหนื่อย
- การออกกำลังกายควรเริ่มหลังตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน
6 อาการที่คุณแม่ต้องระวัง
หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
- น้ำหนักขึ้นมากกว่าปกติ
- เปลือกตาบวม
- ปวดศีรษะตรงหน้าผากและขมับข้างขวา
- ตาพร่า
- ปัสสาวะไม่ออก
- เลือดออกผิดปกติ
ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ คุณพ่อคุณแม่จะต้องช่วยกันดูแลครรภ์ให้มีคุณภาพ รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ ทำงานและออกกำลังกายแบบพอดี ไม่กังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงเด็กแรกเกิด ที่สำคัญเมื่อคุณแม่ทราบเทคนิคในการดูแลครรภ์แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการคลอดบุตร ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ปกป้องสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม
ข้อมูล :
พญ.คัคณางค์ มิ่งมิตรพัฒนะกุล สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพ
นพ.ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณhttps://www.bangkokhospital.com/