อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่เพียงเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคแทรกซ้อน แต่ยังหมายถึงโอกาสในการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือหากผู้ป่วยเบาหวานมีบาดแผลอาจติดเชื้อลุกลามได้ง่ายและหายยาก จึงควรใส่ใจดูแลอย่าละเลยบาดแผลอย่างเด็ดขาด
รู้จักแผลเบาหวาน
แผลเบาหวานเป็นบาดแผลเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีไขมันที่ไม่ย่อยสลายไปจับกับเส้นเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดตีบและแข็งเกิดการอุดตันในที่สุด ส่งผลให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง
นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานระบบประสาทรับความรู้สึกเสื่อม รับความรู้สึกได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย ทำให้เท้าชา ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสความร้อนหรือเย็น หรือแม้กระทั่งเล็บขบ จึงทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย เนื่องจากอาการเจ็บที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ช่วยให้ระวังการเกิดบาดแผล ดังนั้นบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเบาหวานมีแผล กว่าจะรู้ตัวแผลก็ลุกลามไปมากแล้ว อีกทั้งการที่ระบบประสาทสั่งการผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เท้าผิดรูป เท้าบิดเบี้ยว เนื้อบริเวณปุ่มกระดูกบางแห่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิดเป็นแผลได้เช่นกัน
แผลเบาหวานมักเกิดที่เท้า
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมแผลเบาหวานส่วนใหญ่จึงเกิดที่เท้า เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีเส้นเลือดตีบและอาการเสื่อมของระบบประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการชา เมื่อเป็นแผลที่เท้าในช่วงแรกมักไม่รู้สึก แต่จะรู้สึกเมื่อแผลรุนแรง ทำให้รักษายาก หายช้า และอาจร้ายแรงถึงขั้นตัดเท้า
กลุ่มเสี่ยงแผลเบาหวาน
กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวาน คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นแผลเบาหวานเรื้อรังมานาน 5 – 10 ปี ยิ่งเป็นเบาหวานนานหลายปียิ่งเสี่ยงที่จะเกิดบาดแผล
ลักษณะของแผลเบาหวาน
- แผลต้องเกิดกับผู้ป่วยเบาหวาน
- แผลมักเกิดในตำแหน่งปลายมือ ปลายเท้า หรือตำแหน่งรับน้ำหนัก
- แผลหายช้าหรือไม่หาย
อันตรายของแผลเบาหวาน
- เรื้อรังรักษายาก เพราะแผลเบาหวานเป็นแผลเรื้อรัง ถ้าควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดีจะหายยาก
- หายช้า เนื่องจากแผลเบาหวานเกิดจากหลอดเลือดแดงตีบ ทำให้เลือดนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้ไม่ดี ทำให้แผลขาดเลือดไปเลี้ยง แผลหายยาก หายช้า หรืออาจไม่หาย
- ปลายประสาทเสื่อม เกิดจากอาการชา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้ว่าเกิดแผล ทำให้แผลลุกลามมากได้
- เท้าผิดรูป ร่วมกับผิวแห้งหนาผิดปกติ เกิดหนังหนา ๆ เป็นก้อนนูนออกมากดเนื้อเยื่อข้างใต้ เรียกว่า Callus หากเท้าผิดรูปบิดเบี้ยว เกิดแรงกดเฉพาะที่จะทำให้เนื้อเยื่อตายรักษายาก
- ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม เนื่องจากเส้นประสาทไม่ดี มีผลต่อต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ ทำให้การผลิตและหลั่งไขมันลดลง ส่งผลให้ผิวแห้ง แตก เกิดแผลได้ง่าย
- เสี่ยงสูญเสียนิ้วและเท้า โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรังและติดเชื้อรุนแรงมากกว่าคนปกติ เพราะระดับน้ำตาลสูง เส้นเลือดแดงตีบ เลือดไม่ไปเลี้ยง กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคบกพร่อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งมีโอกาสเกิดเนื้อตายจากเส้นเลือดแดงส่วนปลายตีบนำไปสู่การสูญเสียนิ้วหรือขาได้
ตรวจวินิจฉัยแผลเบาหวาน
- แพทย์ซักประวัติและตรวจดูแผล หากผู้ป่วยเบาหวานมีแผล แพทย์จะตรวจเช็กตำแหน่งที่เกิดแผลและคลำชีพจร ตรวจอาการชา และเท้าผิดรูป
- ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Poppler Ultrasound) เพื่อตรวจภาวะเส้นเลือดตีบเบื้องต้น เพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดมาเท้า
- ตรวจ Ankle-Brachial Index เพื่อเช็กโรคหลอดเลือดเเดงที่แขนหรือขาตีบ โดยมีหลักการคือเปรียบเทียบความดันโลหิตระหว่างหลอดเลือดแดงที่แขน (Brachial Artery) และหลอดเลือดแดงที่ขาบริเวณข้อเท้า (Ankle) ค่าปกติจะต้องไม่ต่ำกว่า 0.9 หากต่ำกว่า 0.9 ถือว่าผิดปกติคือเลือดมาเลี้ยงน้อยเกินไป
- TCOM เครื่องประเมินระดับออกซิเจนในผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดและแผลเรื้อรัง เพื่อดูระดับการขาดออกซิเจน การประเมินการตอบสนองต่อการรักษาด้วยการศัลยกรรมหลอดเลือด เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่เหมาะสม โดยจะตรวจวัดบริเวณขอบหรือรอบแผล หากตรวจแล้วค่าออกซิเจนสูงโอกาสแผลหายจะมีมาก แต่ถ้าตรวจแล้วค่าออกซิเจนต่ำมากโอกาสแผลหายจะยิ่งน้อยลง อาจต้องทำการสวนหลอดเลือด แต่ถ้าร้ายแรงอาจต้องตัดเท้าในที่สุด
หลักการดูแลรักษาแผลเบาหวาน
- ดูแลเหมือนแผลทั่วไปตามคำแนะนำและการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง
- รักษาที่ต้นเหตุหรือสิ่งที่ทำให้เกิดแผล ได้แก่ ควบคุมน้ำตาล ดูแลเส้นเลือดตีบ ดูแลเส้นประสาทที่เสื่อม หากเท้าผิดรูปควรแก้ที่รองเท้า ระวังไม่ให้เกิดแรงกดทับบริเวณ Callus เช่น หนุนตรงอื่นไม่ให้ถูกกดทับ เป็นต้น
- การบำบัดรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy – HBOT) โดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ขณะนอนอยู่ในห้องที่มีความดันภายในมากกว่าความกดดันของบรรยากาศ (Hyperbaric Chamber) เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่สูงกว่าการให้ออกซิเจนตามปกติ เมื่อออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น ออกซิเจนละลายอยู่ในเลือดสูงกว่า จะสามารถแก้ภาวะพร่องออกซิเจน ลดการบวมของเนื้อเยื่อ ส่งเสริมการซ่อมแซมบาดแผล ทำให้แผลหายเร็ว โดยผู้ป่วยจะเข้าไปในเครื่อง HBOT วันละ 1 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมงครึ่ง
ดูแลหลังรักษาแผลเบาหวาน
- ควบคุมเบาหวานให้ดี
- ทำความสะอาดเท้าทุกวัน
- ตรวจเท้าและฝ่าเท้าทุกวัน เช็กดูว่ามีแผลที่เท้าหรือมีรอยถลอกหรือไม่
- ทาครีมไม่ให้เท้าแห้งแตก ยกเว้นซอกนิ้วเท้าไม่ต้องทาต้องให้แห้งอยู่เสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ถ้าเท้าผิดรูปอาจต้องตัดรองเท้าให้รับกับรูปเท้า
การดูแลรักษาแผลเบาหวานทั้งที่เท้าและบริเวณอื่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้แผลลุกลามรุนแรงจนเกินเยียวยา ซึ่งการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการดูแลบาดแผลที่พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษา พร้อมทั้งการติดตามดูแลรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเบาหวาน ย่อมช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น
ข้อมูล : นพ.อรรถ นิติพน ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณข้อมูล:bangkokhospital.com