“โรคเบาหวาน” โรคเรื้อรังรักษาไม่หาย หากไม่รักษาตัวให้ดี อาจมาพร้อมกับอาการแทรกซ้อนต่างๆ
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ ทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง และมีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติในการหลั่งอินซูลิน การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะก่อให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ตา ไต เส้นประสาท หัวใจและหลอดเลือดแดง ซึ่งค่าปกติของระดับน้ำตาลที่พอดีกับร่างกาย อยู่ในช่วง 90-130 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
ประเภทของผู้ป่วยเบาหวาน
“เบาหวาน” พบได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งคนอ้วน คนผอม สามารถแบ่งผู้ป่วยเป็น 4 ประเภทใหญ่ แต่พบบ่อยที่สุด คือ
เบาหวานชนิดที่ 1 : เกิดจากการขาดอินซูลิน มักพบในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 30 ปี มีรูปร่างผอม มีภาวะโลหิตเป็นพิษ (คีโตซีส) ได้บ่อย
เบาหวานชนิดที่ 2 : ผู้ป่วยเบาหวานที่อินซูลินไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ มักพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 30 ปี มีรูปร่างอ้วนเป็นส่วนใหญ่ ระยะแรกมักไม่มีอาการ สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด แต่ในรายที่มีอาการ เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการดังกล่าว แต่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึงระดับเบาหวาน หรือมาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคแทรกซ้อน หรืออาการที่ทำให้ต้องนึกถึงโรคเบาหวาน เช่น อาการชาปลายมือปลายเท้า , ความดันโลหิตสูง , โรคหลอดเลือดหัวใจตับ , อาการคันในช่องคลอด เนื่องจากเชื้อรา , ผิวหนังอักเสบเป็นฝีบ่อยๆ , อาการอัมพาต , อาการหมดสติ (โคม่า) โดยไม่มีประวัติเบาหวานนำมาก่อน
อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานชนิดนี้ เป็นโรคที่ถ่ายทอดทาง “กรรมพันธุ์” คนที่มีบิดา-มารดา หรือปู่ย่า-ตายาย เป็นเบาหวาน ย่อมมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ฉะนั้น หากมีญาติคนใดที่สงสัยว่าเป็นเบาหวาน ควรลองตรวจเลือดเช็กดู
ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay
อาการแทรกซ้อนของ “เบาหวาน” ที่พบบ่อย
ทางตา : มักมีอาการตามัวเป็นต้อกระจก บางคนพบอาการแทรกซ้อนทางตาได้ตั้งแต่ระยะแรกของการเป็นเบาหวาน เช่น จอตาเสื่อมสภาพ
ระบบหัวใจ : มีเส้นเลือกหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายได้
ทางไต : ประมาณ 7-10 ปี หลังจากเป็นโรคเบาหวาน ไตจะเสื่อม สมรรถภาพของการทำงานไปเรื่อยๆ บางรายอาจจะเกิดภาวะไตวายได้ ถ้าควบคุมเบาหวานไม่ดี
ทางสมอง : จะเกิดอาการอัมพาตได้
ทางกล้ามเนื้อ : มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนต้นแขน ต้นขา
ทางระบบขับถ่าย : มีอาการท้องผูก หรือท้องเดินบ่อยๆ กระเพาะปัสสาวะคราก ไม่มีแรงแบ่ง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำซ้อน
ทางระบบสืบพันธุ์ : ในผู้ชายจะมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ในผู้หญิงอาจมีบุตรยาก
ทางระบบประสาท : มักมีอาการชา หรือปวดแสบปวดร้อน ตามปลายมือปลายเท้า หนังตาตก กลอกตาลำบาก กลืนลำบาก
ภาพโดย Arek Socha จาก Pixabay
การ “คุมอาหาร” สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
อาหารที่ “ห้าม” รับประทาน
น้ำตาล และขนมหวาน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา นมข้นหวาน น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ กาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล นมข้นหวานหรือครีมเทียม ส่วนน้ำอัดลม ให้ดื่มชนิดที่ใส่น้ำตาลเทียม
อาหารที่ “ควร” รับประทาน ไม่จำกัดจำนวน
ผักใบเขียวทุกชนิด เช่น ผักกาด ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ถั่วงอก สามารถประกาบอาหารประเภทต้มจืด ยำ สลัด ผัดผัก เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีสารอาหารต่ำ นอกจากนั้นยังมีกากอาหารที่เรียกว่า “ไฟเบอร์” ซึ่งทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง
อาหารที่รับประทานได้ แต่ “จำกัดจำนวน”
อาหารจำพวกแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) กรณีที่ “อ้วนมาก” ให้จำกัดแป้งประมาณ 50%-60% ต่อวัน ถ้า “ไม่อ้วนมาก” รับประทานแป้งได้ไม่จำกัดจำนวน เนื่องจากการลดอาหารจำพวกแป้ง ทำให้ต้องเพิ่มอาหารพวกไขมัน อาจทำให้ไขมันในเลือดสูง และการเพิ่มเนื้อสัตว์ทำให้หน้าที่ของไตเสียเร็วขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วมด้วย
ภาพโดย marijana1 จาก Pixabay
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1.ควบคุมอาหาร เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากไม่สามารถนำกลูโคสไปใช้ได้ตามปกติ การควบคุมอาหารจึงช่วยลดปริมาณกลูโคสที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยการลดปริมาณหรือเปลี่ยนสัดส่วนหรือชนิดของอาหาร เพื่อให้น้ำตาลในเลือดลดลง
2.การรับประทานยา ที่ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินมากขึ้น หรือทำให้มีการทำงานของอินซูลินดีขึ้น หรือมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างน้ำตาล และลดการดูดซึมของน้ำตาลเป็นผลให้น้ำตาลในเลือดลดลง ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดของยาเอง
3.การฉีดอินซูลิน เพื่อทดแทนอินซูลินที่ขาดไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ยาฉีดต้องฉีดก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง หรือฉีดก่อนนอน แล้วแต่แพทย์เป็นผู้สั่ง ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การใช้อินซูลินต้องระวังน้ำตาลในเลือดต่ำ
4.การออกกำลังกาย ทำให้มีการใช้พลังงานมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้
5.การลดน้ำหนักตัว มีส่วนสำคัญมากในผู้ป่วยเบาหวานที่รูปร่างอ้วน เพราะคนไข้เบาหวานบางรายเพียงแต่ลดน้ำหนักตัวได้ก็สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้โดยไม่ต้องใช้ยา
6.การดูแลความสะอาดของเท้า ต้องล้างบ่อยๆ หมั่นตัดเล็บ อย่าปล่อยให้เล็บขบเป็นหนอง เวลาเดินต้องใส่รองเท้า เพื่อป้องกันการเหยียบของมีคม ทำให้มีบาดแผลเกิดขึ้น ในกรณีที่มีบาดแผลให้รีบปรึกษาแพทย์ อย่ารักษาด้วยตนเองหรือยาพอก เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบลุกลามได้อย่างรวดเร็วมาก
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด แต่หากปฏิบัติตัวดี สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ และสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้เช่นเดียวกับคนปกติ
ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.หัวเฉียว
ขอขอบคุณข้อมูล:tnnthailand.com