ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงนั้นมีลักษณะเฉพาะและต้องการการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะร่างกายของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากวัยเยาว์ เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ วัยผู้ใหญ่ และวัยหมดประจำเดือน ซึ่งบางครั้งความเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่ดูธรรมดาอาจเป็นสัญญานของโรคร้ายบางอย่างได้หากไม่รู้เท่าทัน
ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้หญิงทั้งหลายไปรู้จักกับอาการบ่งชี้ 6 โรคมะเร็งที่พบบ่อยกัน ให้ทุกคนลองเช็คดูกันว่าเราหรือคนรู้จัก มีอาการที่อาจจะเป็นภาวะเสี่ยงเหล่านี้กันหรือไม่
- อาการบ่งชี้มะเร็งเต้านม
แม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆจนกว่าจะตรวจพบโรคจากการทำแมมโมแกรม แต่สัญญาณของมะเร็งเต้านมที่พบได้บ่อยก็คือมีก้อนที่เต้านม ก้อนในเต้านมที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นมะเร็งนั้นจะไม่เจ็บ แข็ง และไม่เคลื่อนที่ ทั้งยังมีขอบแปลกๆ แต่บางที่มะเร็งเต้านมก็มีลักษณะอ่อนนุ่มหรือเป็นกลมๆ ทั้งยังอาจเจ็บปวดด้วย
แม้อาการด้านล่างนี้จะสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่ถ้าคุณมีอาการแล้วล่ะก็ คุณควรไปพบแพทย์ ซึ่งอาการที่ว่าได้แก่
- เต้านมมีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนไป
- มีก้อนหรือแผ่นหนาภายในหรือใกล้ๆเต้านม หรืออยู่บริเวณใต้วงแขน
- เต้านมบวมทั้งหมดหรือแค่บางส่วน (ถึงแม้ว่าจะไม่รู้สึกว่ามีก้อนใดๆก็ตาม)
- ระคานเคืองผิวบริเวณหน้าอก
- ผิวหนังบริเวณเต้านมย่น หรือผิวโบ๋เป็นหลุมเหมือนผิวส้ม
- เจ็บที่เต้านมหรือหัวนม
- หัวนมบุ๋ม
- หัวนม ขอบรอบหัวนม(บริเวณผิวคล้ำรอบหัวนม)หรือผิวเต้านมมีสีแดง เป็นสะเก็ดหรือหนาขึ้น
- มีของเหลวที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม
- อาการบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่
บ่อยครั้งอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจไปคล้ายกันกับโรคอื่นๆ หรืออาจไม่ได้แสดงอาการมากนัก ทำให้เราไม่ได้ทันระวังตัว จนเป็นเหตุให้จากเนื้องอกธรรมดาๆ กลายเป็นเนื้อร้ายที่ยากต่อการรักษา ดังนั้น เราจึงควรตั้งข้อสงสัยและหมั่นสังเกตอาการให้ดี โดยหากมีอาการบ่งชี้เหล่านี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
- ท้องเสีย ท้องผูก หรือรู้สึกท้องอืด บ่อยๆ
- ลักษณะอุจจาระเรียวยาวกว่าปกติ
- อุจจาระปนเลือดสดๆ หรือเลือดสีคล้ำมาก
- น้ำหนักลดลงอย่างผิดสังเกต ทั้งๆ ที่รับประทานตามปกติ ไม่ได้ควบคุมหรือลดปริมาณลงแต่อย่างใด
- ไม่สบายท้อง รวมทั้งปวดแสบร้อน อาหารไม่ย่อย และปวดเกร็ง
- อ่อนเพลียหรืออ่อนแรง เบื่ออาหาร รับประทานได้น้อย
- ภาวะโลหิตจาง
- อาการบ่งชี้มะเร็งตับ
อาการของโรคมะเร็งตับมักไม่ชัดเจนและไม่แสดงอาการให้เห็นจนกว่ามะเร็งจะเป็นในระยะแพร่กระจายหรือระยะที่มีความรุนแรงของโรคแล้ว (advanced stage) ซึ่งอาการนั้นได้แก่
- ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่ ท้องบวมขึ้น
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆ ที่รับประทานตามปกติ
- เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
- ตัวเหลืองและตาเหลือง
- อาการบ่งชี้มะเร็งปากมดลูก
ในระยะเริ่มต้น มะเร็งปากมดลูกมักจะไม่มีอาการ ในระยะท้ายจะมีอาการได้ดังนี้
- มีเลือดผิดปกติจากอวัยวะเพศในช่วงมีประจำเดือน หลังจากมีเพศสัมพันธ์หรือเวลาตรวจภายใน ช่วงมีประจำเดือนอาจจะมีเลือดออกมากกว่าปกติและมีประจำเดือนเป็นเวลานาน และหญิงวัยทองบางรายก็อาจมีเลือดออกได้
- มีตกขาวมากขึ้นกว่าปกติ
- ตกขาวมีเลือดหรือหนองปน ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ
- ปวดบริเวณหัวหน่าว
- เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์์
- อาการบ่งชี้มะเร็งปอด
อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในระยะแรก ๆ มักจะไม่ค่อยแสดงอาการอย่างชัดเจนนัก แต่ทั้งนี้อาการของโรคมะเร็งปอดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง รวมไปถึงตำแหน่งของก้อนมะเร็งในร่างกายผู้ป่วยแต่ละรายด้วยนะคะ โดยอาการมะเร็งปอดจะแบ่งตามความรุนแรงของโรคได้ ดังนี้
- อาการไอมีเลือดปน
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- หายใจหอบ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- เสียงแหบ
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดร้าวที่ไหล่ ต้นแขน และสะบักหลัง
- ปอดบวม ปอดอักเสบบ่อย
- อาการบ่งชี้มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย
ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแต่ละรายมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดที่เป็น อย่างไรก็ตาม อาการโดยทั่วไปที่อาจสังเกตได้ มีดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- ปวดกระดูกและข้อ
- มีรอยฟกช้ำได้ง่าย
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ปวดท้อง-สาเหตุมาจากตับโตหรือม้ามโต
- น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
- ผิวสีซีด (pale skin)
- อ่อนเพลีย
- หายใจลำบาก
- มีการติดเชื้อซ้ำๆ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน
- มีเลือดออกผิดปกติและบ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทราบก็คืออาการหลายข้อเหล่านี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นข้อใดข้อหนึ่ง ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของภาวะอาการอื่น ๆ ได้เช่นกัน จึงควรไปปรึกษาแพทย์ หากพบความผิดปกติ ก็สามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่ในระยะแรก ซึ่งโอกาสหายขาดมีมาก หากตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้บรรเทาความวิตกกังวลของเราหรือคนในครอบครัวไปได้
เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเพราะถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ เช่น มะเร็งเต้านม เมื่อได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ท่านอาจจะไม่ต้องตัดออก และยังมีโอกาสรักษาให้หายได้ รู้เร็วรักษาทัน กันไว้ดีกว่าแก้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.chularatcancercenter.com/