ข้อมูลจากหนังสือการดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
โดยคณะทำงานการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดและทีมสหสาขาวิชาชีพ
รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-172-R-00
อาหารกับโรคมะเร็ง
อาหารบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งบางชนิด และขณะเดียวกันอาหารก็มีส่วนช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งบางชนิดได้เช่นกัน มะเร็งบางชนิดสัมพันธ์กับโปรตีน น้ำตาล แป้ง และโดยเฉพาะไขมันที่บริโภคเข้าไป ไขมันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเนื้องอก ซึ่งสามารถถูกเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งในขั้นต่อไป ไขมันดังกล่าวเป็นไขมันที่ทั้งจากพืชและสัตว์ โดยกลุ่มผู้ที่บริโภคอาหารที่มีไขมันสูงจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ สูงกว่าผู้ที่บริโภคไขมันน้อย
อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง คือ อาหารหลัก 5 หมู่ ที่เน้นพลังงานและโปรตีนสูง มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนตามหลักธงโภชนาการ แต่ยังคงปฏิบัติตามการกินเพื่อป้องกันมะเร็งควบคู่ไปด้วย
ผู้ป่วยมะเร็งจะมีความต้องการโปรตีนเพิ่มมากกว่าคนปกติ หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ กล้ามเนื้อจะถูกสลายไปใช้เป็นพลังงาน และหากยังขาดโปรตีนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะเริ่มอ่อนแรง ระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มบกพร่อง เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยมากขึ้น และยังส่งผลต่อการรักษา ทั้งการผ่าตัดการให้เคมีบำบัดและการฉายรังสี
แหล่งโปรตีนคุณภาพดีมักมาจากสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วต่างๆ ก็ให้โปรตีนเช่นกัน แต่จะเป็นโปรตีนที่คุณภาพต่ำกว่าโปรตีนจากสัตว์
ภาวะขาดสารอาหารกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ในขณะเจ็บป่วยร่างกายต้องการพลังงานและสารอาหารเพิ่มมากขึ้น หากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารชดเชยได้เพียงพอกับความต้องการขณะนั้น ร่างกายจะค่อยๆ สลายกล้ามเนื้อเพื่อให้ได้พลังงานทดแทนส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบ น้ำหนักตัวลด และเกิดการขาดสารอาหารในที่สุด
ผู้ป่วยมะเร็งส่วนมากจะเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ทั้งจากความรุนแรงของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษา ซึ่งความรุนแรงของภาวะทุพโภชนาการ จะส่งผลต่อการตอบสนองต่อการรักษา การเกิดโรคแทรกซ้อนและการติดเชื้อได้ มีรายงานในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการที่ดี มีการตอบสนองต่อการรักษาและอัตราการรอดชีวิต ที่สูงกว่าผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จุดประสงค์ของโภชนบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง
– เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีโภชนาการที่ดีหลังจากการรักษา
– เพื่อเพิ่มพลังงานและความแข็งแรงให้แก่ผู้ป่วย
– เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคแทรกซ้อน และการกลับมาของโรคมะเร็ง
– เพื่อลดผลข้างเคียงจากโรคมะเร็งรวมถึงการรักษา
การเตรียมตัวด้านโภชนาการสำหรับการรักษามะเร็ง
ผู้ป่วยต้องมีการเตรียมตัวในด้านโภชนาการก่อนเริ่มการรักษา เมื่อผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรงจากการรับประทานอาหารพอเพียง และได้รับอาหารที่ครบถ้วน จะช่วยลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการรักษาได้
– การคิดแต่สิ่งที่ดีในเชิงบวกจิตใจดีจะช่วยการรักษาได้ดีขึ้น
– การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแข็งแรง
– วางแผนในเรื่องอาหาร
– ปรุงอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ
อาหารที่แนะนำในช่วงที่เข้ารับการรักษา
การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด หรือการฉายรังสี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการรับประทานอาหารของผู้ป่วย นอกจากนี้ มะเร็งบางชนิดยังส่งผลโดยตรงต่อการได้รับประทานอาหาร เช่น มะเร็งช่องปาก/กล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น ทั้งหมดนี้อาจนำไปซึ่งความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง หากไม่ได้รับการดูแลอย่างดี
การรักษาโดยการผ่าตัด
หลังผ่าตัดร่างกายจำเป็นต้องการพลังงานและโปรตีนสูง เพื่อการสมานของแผลและการฟื้นตัว ดังนั้น อาหารสำหรับผู้ป่วยผ่าตัด
ในช่วงระยะแรก อาหารเหลวใส เช่น ซุปใส น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร อาหารเหลวข้น เช่น ซุปเห็ด ซุปข้าวโพดนม โจ๊ก อาหารปั่น
ระยะที่สอง อาหารที่ย่อยง่าย ได้แก่ อาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวน้ำใส ปลานึ่งซีอิ้ว
ระยะที่สาม อาหารธรรมดา เช่น ข้าวสวย ขนมปัง ข้าวผัด ผัดผัก แกงจืด ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผลไม้
การรักษาโดยการฉายรังสี
ตำแหน่งและปริมาณรังสีที่ได้รับในการฉายรังสี จะส่งผลข้างเคียงต่อการรับประทานอาหารได้แตกต่างกันไป เช่น การฉายรังสีบริเวณสมองและไขสันหลัง อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน การฉายรังสีบริเวณโพรงจมูก ลิ้น กล่องเสียง ทอนซิล หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ มักทำให้เกิดแผลในปาก ส่งผลให้กลืนลำบาก เจ็บปาก เจ็บคอ ปากแห้ง หรือทำให้การรับรสเปลี่ยนแปลงไปได้ การฉายรังสีบริเวณปอด หลอดอาหารเต้านม อาจส่งผลให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบ ทำให้เกิดอาหารกลืนลำบาก แสบร้อนบริเวณกลางอกได้ การฉายรังสีบริเวณลำไส้เล็ก ต่อมลูกหมาก ปากมดลูก มดลูก ทวารหนัก ตับอ่อน มักทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี
– รับประทานครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง
– รับประทานอาหารรสไม่จัด
– กรณีกลืนอาหารลำบาก ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปข้น อาหารปั่น นม
– กรณีที่น้ำลายเหนียว อาจเลือกอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำเพิ่มขึ้นในแต่ละมื้อ เช่น ทานข้าวต้มแทนข้าวสวย หรือมีน้ำซุป หรือแกงชนิดต่างๆ เป็นกับข้าวในทุกๆ มื้อ ในระหว่างวันควรพกกระติกน้ำติดตัวอยู่เสมอ เพื่อจิบเวลาคอแห้ง ปากแห้ง กรณีที่มีอาการเจ็บปาก ปวดท้อง ท้องเสีย หรือคลื่นไส้อย่างมากควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และควรงดอาหารที่มีกากใยสูงในช่วงแรกที่มีอาการท้องเสีย
การรักษาด้วยเคมีบำบัด
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หากมีอาการต่างๆ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
– การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป สามารถที่จะใช้สมุนไพรน้ำมะนาวมิ้นช่วยในการรับรส การรับประทานผลไม้แช่เย็น น้ำมะนาวโซดา น้ำสตอเบอรี่ มะนาวปั่น
– ความอยากอาหารลดลง รับประทานอาหารครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง ต้องเป็นอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง เช่น นมอุ่นๆ ซุปเห็ดข้น ขนมปังผสมธัญพืชทาแยมผลไม้หรือเนยถั่ว โจ๊กหมูสับใส่ไข่ มันต้มถั่วเขียว หรือลูกเดือยต้มน้ำตาล ไอศกรีมเชอเบท เต้าฮวยนมสด เต้าฮวยธัญพืช
– ท้องผูก รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังผสมธัญพืช ผลไม้สด เช่น กล้วยน้ำหว้า แอปเปิ้ล สัม ผลไม้แห้ง เช่น ลูกพรุนแห้ง และควรดื่มน้ำมากๆ
– ท้องเสีย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกากใยและไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ ดื่มน้ำหรืออาหารที่ช่วยชดเชยเกลือแร่ที่เสียไปกับอุจจาระ เช่น น้ำเกลือแร่ ซุปเห็ดข้น แครกเกอร์ กล้วยหอม มันฝรั่ง ซุปข้น โจ๊ก ข้าวต้ม รับประทานผักที่มีกากใยต่ำ เช่น ผักกาดขาว แตงกวา ฟักเขียว เมื่ออาการดีขึ้นค่อยๆ เริ่มรับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากขึ้นได้
– แผลในปาก หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและมีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ปลาเค็ม อาหารรสเผ็ด น้ำมะนาว น้ำส้ม เป็นต้นควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊กหมูสับใส่ไข่ มักกะโรนีนม ซุปฟักทองซีเรียลใส่นมอุณหภูมิเย็น ผักต้มสุก น้ำผลไม้ที่ไม่เปรี้ยว เช่น น้ำแอปเปิ้ล ไอศกรีมเชอเบท เป็นต้น
– คลื่นไส้อาเจียน แนะนำให้รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น แบ่งมื้ออาหารเป็น 5 – 6 มื้อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุน อาหารที่มีรสหวานจัด อาหารมันๆ หลีกเลี่ยงอาหารร้อนหรือเผ็ดจัด จิบน้ำทุก 10 – 15 นาที หลังอาเจียนและนอนหัวสูง จิบน้ำขิงหรือชาอุ่นๆ เลือกรับประทานอาหารแห้งๆ เช่น แครกเกอร์ ขนมปังปิ้ง มันฝรั่งอบ น้ำผลไม้เย็นๆ ไอศกรีมเชอเบท เป็นต้น
– เม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ ควรเลือกอาหารที่มีแบคทีเรียต่ำ โดยก่อนการเตรียมหรือปรุงอาหารต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และภาชนะที่ใส่ต้องสะอาด อาหารที่เตรียม เช่น ผักสดให้แช่น้ำและล้างผ่านน้ำอย่างน้อย 2 – 3 ครั้ง ต้องปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทาน หลีกเลี่ยงผักสดและผลไม้เปลือกบาง ส่วนนมควรเลือกชนิดที่ผ่านการสเตอไรซ์แล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก http://sriphat.med.cmu.ac.th/