มะเร็งลำไส้ใหญ่-ทวารหนัก

การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยหุ่นยนต์

Views

การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยหุ่นยนต์
(Robotic Assisted Colorectal Cancer Surgery)

รศ.นพ. ปวิธ สุธารัตน์

หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รหัสเอกสาร PI-IMC-066-R-00

ในปัจจุบันพบว่าการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยวิธีการใช้หุ่นยนต์ในการช่วยผ่าตัด (Robotic assisted colorectal cancer surgery) ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการผ่าตัดอย่างต่อ เนื่องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้รับผลการรักษาที่ดีที่สุด

        จากการศึกษาพบว่าการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยวิธีการใช้หุ่นยนต์ในการช่วยผ่าตัดมีข้อดีหลายข้อด้วยกัน เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดด้วยวิธีการเปิดช่องท้องแบบทั่วไป ได้แก่ การกลับมาทำงานของลำไส้เร็วขึ้น (Shorter duration of postoperative ileus), การลดความเจ็บ ปวดของแผลหลังการผ่าตัด (Less post operative pain), ลดความต้องการใช้ยาระงับปวด (Reduction in the need for analgesics), ผู้ป่วยกลับมารับประทานอาหารได้เร็วขึ้น (Earlier tolerance of diet), ลดระยะเวลานอนโรงพยาบาล (Shortened hospital stay), ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น (Earlier resumption of normal activities) และแผลผ่าตัดสวยงาม (Improved cosmetic results)

  การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักต้องอาศัยเทคนิคที่มีความซับซ้อน โดยตำแหน่งของอวัยวะที่ผ่าตัดอยู่ในบริเวณที่คับแคบและลึกในอุ้งเชิงกราน การใช้หุ่นยนต์ในการช่วยผ่าตัดสามารถทำให้การผ่าตัดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแขนผ่าตัดของหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด ประกอบกับภาพที่ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดมองเห็นเป็นภาพสามมิติผ่านกล้องชนิดพิเศษ ทำให้ศัลยแพทย์มองเห็นระยะความลึกในการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันภาพที่เห็นในขณะผ่าตัดเป็นภาพที่มีการขยายใหญ่ขึ้นถึง 10 เท่า ทำให้ภาพที่มองเห็นมีรายละเอียดที่ชัดเจนถูกต้อง จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัดและผลสำเร็จของการผ่าตัดจึงมีมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้การผ่าตัดมะเร็งมีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดอัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งหลังการผ่าตัด และทำให้อัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยสูงขึ้น รวมทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น 

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ประกอบด้วย

1. ส่วนควบคุมการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ 

โดยศัลยแพทย์จะนั่งหน้าคอนโซลเพื่อควบคุมการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ มีช่องมองภาพการผ่าตัดเป็นภาพ 3 มิติ สามารถมองเห็นมิติ “ความลึก” มีกำลังขยายภาพของกล้องส่องผ่าตัดถึง 10 เท่า ทำให้การผ่าตัดมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น เพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดและลดการเกิดอันตรายต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทในบริเวณใกล้เคียง

2. ตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด 

ประกอบด้วยแขนหุ่นยนต์ 4 แขน เป็นแขนช่วยจับกล้องหนึ่งแขน และอีกสามแขนสำหรับการติดตั้งเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำผ่าตัดที่ออกแบบคล้ายมือ สามารถทำงานแทนมือศัลยแพทย์ แต่มีการพัฒนาเครื่องมือที่เหนือกว่าข้อมือมนุษย์ กล่าวคือสามารถหักงอข้อมือและหมุนข้อมือได้อย่างอิสระได้รอบ ทิศทางเครื่องมือจึงสามารถเข้าไปช่วยทำผ่าตัดในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัดได้อย่างแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น

3. ระบบควบคุมภาพ 

เป็นส่วนที่ทำให้เห็นภาพการผ่าตัดภายใต้กล้องในบริเวณที่ทำการผ่าตัดภายในตัวผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ผู้ช่วยผ่าตัดและพยาบาลผู้ช่วยสามารถมองเห็นการผ่าตัดร่วมกันได้

จากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และการพัฒนาเครื่องมือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในปัจจุบันสามารถนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ร่วมกับการผ่าตัดทางศัลยกรรมเกือบทุกประเภท ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นกลุ่มที่มีความเหมาะสมที่จะใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการผ่าตัดและเพื่อประโชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

รูปภาพแสดงห้องผ่าตัดหุ่นยนต์ที่ศูนย์ศรีพัฒน์

รูปภาพแสดงการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ตรงด้วยหุ่นยนต์ที่ศูนย์ศรีพัฒน์

รูปภาพแสดงการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ตรงด้วยหุ่นยนต์ที่ศูนย์ศรีพัฒน์

ขอบคุณข้อมูลจาก http://sriphat.med.cmu.ac.th/

Leave a Reply