รู้ทัน-โรค

“ปวดท้องบ่อย” สัญญาณบอกโรคอันตราย

Views

ปวดท้อง เป็นอาการนำที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของคนไข้แบบผู้ป่วยนอกหรือที่เรียกว่า OPD case ซึ่งอาการปวดท้องนี้อาจมีสาเหตุได้มากมาย เนื่องจากช่องท้องมีอวัยวะภายในหลายอวัยวะเช่น ตับ ม้าม กระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ไต ถ้าปวดท้องน้อยหร้อท้องส่วนล่างก็มีกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูก รังไข่ ในเพศชายจะมีต่อมลูกหมาก เป็นต้น

พญ.กฤดากร  เกษรคำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชะลอวัย จาก AddLife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้กล่าวถึงอาการปวดท้องว่า อาการปวดท้องส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่มักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการทานอาหารไม่เหมาะสม เช่น การทานอาหารรสจัด อาหารดิบ ย่อยยาก ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ เกิดจากความเครียด นอนหลับผักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ทำให้ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพิ่มความเสื่ยงโรคต่างๆ เช่น

  • โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
  • โรคกรดไหลย้อน
  • โรคลำไส้อักเสบ
  • โรคตับอ่อนอักเสบ
  • โรคมะเร็ง ทั้งมะเร็งในช่องท้องและนอกช่องท้อง
  • นิ่วทางเดินปัสสาวะ
  • ระบบฮอร์โมนไม่สมดุล เกิดถุงน้ำรังไข่ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น

เนื่องจากอาการปวดท้องส่วนใหญ่ทุเลาได้ด้วยการทานยาที่หาซื้อได้ง่าย เช่น ยาลดกรด ยาคลายกล้ามเนื้อแก้ปวดท้อง แต่อย่างไรก็ตามการซื้อทานยาเองสามารถทำได้เบื้องต้นแต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ปวดรุนแรงเรื้อรัง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ตัวร้อน อาเจียน ถ่ายเหลว อุจจาระเป็นเลือด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหลายโรคก็มีอาการปวดท้องเป็นอาการนำ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงโรคต่างๆ รวมทั้งอาการปวดท้องด้วยการปฏิบัติตนดังนี้

  • ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ ของทางเดินอาหาร โดยทานอาหารสุกๆ สะอาด หลีกเลี่ยงอาหาร รสจัด ย่อยยาก อาหารมันๆ เครื่องดื่มอัดแก๊สต่างๆ ที่เพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ในปริมาณน้อยหรือไม่ดื่มเลย เพราะเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ โรคมะเร็ง
  • ปรับสภาพลำไส้และภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงด้วยการทาน  Probiotic แบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยเสริมและภูมิคุ้มกัน เช่น แลคโตแบซิลัส รักษาโรค Leaky Gut ลดอาการท้องอืด มีแก๊ส
  • ทานผักผลไม้เป็นประจำ เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็น Prebiotic ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ probiotic และมีไฟเบอร์ป้องกันอาการท้องผูก
  • นอนหลับผักผ่อนให้เพียงพอ และการออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยให้ระบบย่อยอาหาร การขับถ่ายทำงานปกติ
  • การทานวิตามินเสริมหรือรักษาด้วยฮอร์โมนช่วยลดอาการปวดบางอย่างได้ เช่น ปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน เสริมความแข็งแรงของร่างกายและอวัยวะต่างๆ โดยรวม
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคกรดไหลย้อน โรคมะเร็ง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยกระตุ้นการทำงานระบบย่อยอาหาร เพิ่มการหมุนเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงระบบย่อยอาหาร อวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง เป็นต้น

ขอขอบคุณ:sanook.com

Leave a Reply