IN FOCUS
- ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขใดแนะนำให้สวมถุงมือก่อนออกจากบ้านมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือกรมควบคุมโรคของไทย นั่นก็เพราะถุงมือไม่มีความจำเป็นในการป้องกันโควิด-19 สำหรับคนทั่วไป และยังนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อได้ ยกเว้นกรณีที่ต้องทำความสะอาดหรือดูแลผู้ป่วย
- การป้องกันตัวที่ปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่นจึงเป็นการล้างมือให้บ่อย ไม่ขยี้ตา แคะจมูก หรือนำเข้าปาก และไม่ลืมสวมหน้ากากอนามัย กับเว้นระยะหว่างจากผู้อื่น
“…บังคับให้สวมถุงมือสะอาดในการจับราว เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ” ผมอ่านคำแนะนำชุดเปิดเมืองให้ปลอดโรคของ Thai.care เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วสะดุดความคิดอยู่ตรงเรื่อง ‘ถุงมือ’ ทั้งแบบ “น้องรถไฟฟ้า โควิดมาหานะเธอ” และแบบ “คุณกลัวเดินทาง” กับ “พี่สาธารณะ” ก็แนะนำให้ผู้โดยสาร “พกอุปกรณ์ฆ่าเชื้อไว้ใช้ระหว่างเดินทางหรืออุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ เพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง” ท่านผู้อ่านอ่านแล้วสะดุดเหมือนกันกับผมไหมครับ?
“คุณกลัวเดินทาง” กับ “พี่สาธารณะ”
ทำไมการสวมถุงมือถึงกลายเป็น ‘ความสะอาด’ ?
“ล้างมือบ่อยๆ” ด้วยสบู่และน้ำสะอาดนาน 20 วินาที หากไม่มีสบู่ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป เป็นคำแนะนำที่เราได้ยินมาตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้เรามีภาพของมือว่าเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคจึงต้องล้างมือ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราก็จะล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังออกจากห้องน้ำเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำ เช่น อหิวาตกโรค ตามคำขวัญที่ว่า “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
แต่สำหรับโควิด-19 เราต้องล้างมือบ่อยกว่านั้น เพราะเชื้อปนเปื้อนอยู่ตามสิ่งของที่เราหยิบจับ ถ้าเป็นของใช้ส่วนตัวก็จะเปื้อนแค่มือเราเพียงคนเดียว แต่ถ้าเป็นสิ่งของในที่สาธารณะ เช่น ราวจับหรือราวบันได พนักเก้าอี้ ปุ่มกดแจ้งพนักงานขับรถ ปุ่มกดบนเครื่องจำหน่ายตั๋ว พอเราไปหยิบจับต่อก็จะเท่ากับเปื้อนมาแล้วหลายมือ ซึ่งถ้าหนึ่งในนั้นเป็นมือของผู้ป่วยที่ใช้มือปิดปากเวลาไอจามแล้วไม่ได้ล้างมือ เชื้อโรคก็จะถูกส่งต่อมาบนมือของเราทันที
ความกลัวการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรงนี้เองที่ผมเข้าใจว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนสวมถุงมือก่อนออกจากบ้าน สวมถุงมือในระหว่างเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือที่หลายคนน่าจะสังเกตเห็นบ่อยเหมือนกันคือพนักงานร้านสะดวกซื้อหรือแคชเชียร์ที่สวมถุงมือขณะให้บริการลูกค้า (น่าจะกังวลเรื่องการหยิบจับเงินสด) และน่าจะเป็นที่มาของคำแนะนำให้สวมถุงมือหากเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะอย่าง “น้องรถไฟฟ้า” และ “คุณกลัวเดินทาง”
ผมไม่แน่ใจว่าหลายคนได้รับอิทธิพลมาจากภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่สวมถุงมือหรือไม่ เพราะเวลาไปพบแพทย์ หลายคนมักจะเห็นแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินสวมถุงมือก่อนตรวจแผล แพทย์ในห้องผ่าตัดที่สวมชุดสีเขียวพร้อมสวมถุงมือหุ้มมิดชิด พยาบาลที่สวมถุงมือก่อนสัมผัสสารคัดหลั่ง และเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ที่สวมถุงมือก่อนเจาะเลือด หลายคนจึงต้องการป้องกันเชื้อโรคแบบเดียวกันด้วยการสวมถุงมือในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้เมื่อต้องล้างมือบ่อยขึ้น เพราะทำงานหยิบจับสิ่งของผู้อื่นตลอดเวลา เช่น แม่ค้าร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟ ยังทำให้มือเปื่อยย่นหรือรู้สึกว่ามือแห้งกว่าปกติ เลยต้องหาวิธีอื่นในการป้องกันไม่ให้มือเปื้อน เมื่อมือไม่เปื้อนก็ไม่ต้องล้างมือบ่อย จึงเป็นสาเหตุให้สวมถุงมือบริการลูกค้า และในอินเทอร์เน็ตยังมีผู้เปรียบเทียบความประหยัดระหว่างถุงมือยางราคาคู่ละ 1 บาทกับเจลแอลกอฮอล์ที่มีราคาแพง จึงควรใช้ถุงมือยางแทนอีกด้วย
ถุงมือที่สวมเป็นเวลานานคือ ‘ความสกปรก’
ทว่าที่ผ่านมาจะยังไม่เคยมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขใดแนะนำให้สวมถุงมือก่อนออกจากบ้านมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (2 หน่วยงานนี้ยังออกคำแนะนำว่า “ไม่แนะนำ” อีกด้วย) หรือกรมควบคุมโรคของไทย นั่นก็เพราะถุงมือไม่มีความจำเป็นในการป้องกันโควิด-19 สำหรับคนทั่วไป และยังนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อได้ ยกเว้นกรณีที่ต้องทำความสะอาดหรือดูแลผู้ป่วย
ถึงแม้มือของเราจะสัมผัสกับเชื้อโรค ‘โดยตรง’ แต่โควิด-19 ติดต่อผ่านการสัมผัส ‘ทางอ้อม’ คือเราจะยังไม่ติดเชื้อโรคบนมือ จนกว่าเราจะนำมันขึ้นมาสัมผัสบริเวณใบหน้า เช่น ขยี้ตา แคะจมูก หรือหยิบของเข้าปากอีกทีหนึ่ง ดังนั้นการป้องกันโควิด-19 จากการสัมผัสที่เหมาะสมที่สุดจึงเป็นการล้างมือบ่อยๆ โดยอาจพกเจลแอลกอฮอล์ติดกระเป๋าไว้ หรือตามขนส่งสาธารณะจะมีเจลฯ ตั้งไว้ให้ล้างมือก่อนเข้าใช้บริการ เมื่อล้างเสร็จแล้วก็ไม่ไปหยิบจับสิ่งของอื่นหรือใบหน้า นอกจากราวจับเพื่อพยุงตัวจนกว่าจะลงจากรถ ซึ่งขนส่งสาธารณะจะต้องเป็นผู้เตรียมเจลฯ ไว้ให้ผู้โดยสาร และต้องทำความสะอาดพื้นผิวที่มีคนสัมผัสร่วมกันเป็นประจำ หรือหลังเสร็จการให้บริการในแต่ละเที่ยว
นอกจากนี้ถุงมือยังทำให้เชื้อแพร่กระจายมากขึ้น เพราะ ‘ถุงมือ’ จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคแทน ‘มือ’ แต่ผู้สวมถุงมือจะไม่สามารถล้างถุงมือเหมือนกับที่สามารถล้างมือบ่อยๆ ได้ ทำให้เชื้อโรคพอกพูนมากขึ้นในแต่ละครั้งที่มีการจับสิ่งของ ไม่ต่างจากราวจับที่ถูกจับหลายครั้งเข้าก็กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ยิ่งถ้าเป็นงานที่ต้องหยิบจับสิ่งของหรืออาหารยื่นให้กับลูกค้า เช่น แคชเชียร์ หรือพนักงานเสิร์ฟก็จะเท่ากับการส่งต่อเชื้อให้กับลูกค้าคนถัดไป
ส่วนในโรงพยาบาล ถ้าสังเกตการใช้ถุงมือตั้งแต่ต้นจนจบจะพบว่าบุคลากรฯ ใช้ถุงมือ 1 คู่ต่อผู้ป่วย 1 คน ไม่ปะปนกันและใช้เพียงครั้งเดียวก็ถอดถุงมือทิ้ง และต้องล้างมือหลังถอดถุงมือด้วย จากนั้นเมื่อผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาก็จะหยิบถุงมือจากกล่องขึ้นมาสวมใหม่ ไม่ได้สวมถุงมือตลอดเวลาอย่างที่หลายคนกำลังทำอยู่ ซึ่งถ้าหากไม่ได้เปลี่ยนถุงมือก็เคยมีเหตุการณ์การติดเชื้อข้ามจากผู้ป่วยเตียงหนึ่งข้ามไปยังอีกเตียงหนึ่งในหอผู้ป่วยในมาแล้ว หากต้องการสวมถุงมือออกจากบ้านจริงก็ต้องเปลี่ยนถุงมือบ่อยครั้งมาก จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายหรือเปิดอ่านไลน์ก็ลำบาก ที่สำคัญเมื่อถอดถุงมือแล้วก็ต้องล้างมือซ้ำอยู่ดี เพราะเชื้ออาจปนเปื้อนขณะถอดถุงมือได้
ถุงมือจึงเป็นอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น
ดังนั้นถุงมือจึงไม่ใช่อุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันโควิด-19 เราจึงไม่ควรสวมออกจากบ้านหรือเวลาเข้าไปในสถานที่ที่คนพลุกพล่านอย่างที่หลายคนเข้าใจ ยิ่งถ้าเป็นพนักงานที่ต้องหยิบสิ่งของจากคนจำนวนมาก ถุงมือก็จะยิ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคจากทุกคนไม่ต่างจากราวจับเคลื่อนที่ สำหรับคนทั่วไปวิธีการป้องกันโควิด-19 จากการสัมผัสที่เหมาะสมที่สุดเวลาเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ คือการล้างมือบ่อยๆ และไม่นำมือขึ้นมาสัมผัสบริเวณใบหน้าหากมือยังสกปรกอยู่
สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ต ผมไม่เห็นด้วยกับมาตรการของกรมอนามัยที่กำหนดให้ “…พนักงานรับเงินต้องสวมถุงมืออยู่ตลอดเวลา และต้องมีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง” ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว และ 2 ประโยคนี้ขัดกัน (ใส่ถุงมือแล้วไม่สามารถล้างมือได้ และไม่ควรใช้เจลฯ ลูบบนถุงมือ) แต่เจ้าของกิจการควรจัดหาเจลแอลกอฮอล์ประจำจุดชำระเงินอย่างน้อย 2 ขวด ขวดหนึ่งให้ลูกค้า ส่วนอีกขวดให้พนักงานล้างมือเปล่าหลังชำระเงินเสร็จทุกครั้ง
ส่วนพนักงานในร้านอาหารไม่ควรสวมถุงมืออย่างยิ่ง ยกเว้นพนักงานเตรียมอาหาร เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการล้างมือ และพนักงานมักจะต้องสัมผัสกับภาชนะของลูกค้า เช่น แก้วน้ำเวลาเติมน้ำ หรือจานอาหารที่รับประทานหมดแล้ว เมื่อสัมผัสแล้วก็ควรล้างมือทันที แต่ถ้าพนักงานเก็บจานและทำความสะอาดโต๊ะจะสวมถุงมือก็ต้องแบ่งหน้าที่กันชัดเจน คือไม่สวมถุงมือที่อาจเปื้อนน้ำมูกน้ำลายคนอื่น มาเสิร์ฟอาหารหรือเติมน้ำดื่มให้กับอีกคนหนึ่ง
โดยสรุปถุงมืออาจเป็นภาพแทนของความสะอาด เพราะมือเปล่ามักจะสกปรก แต่ถ้าล้างมือเปล่าให้ถูกวิธีก็จะทำให้มีความสะอาดมากกว่าการสวมถุงมือเป็นเวลานานได้ ในขณะที่ถุงมือที่ใช้ในโรงพยาบาลก็ใช้กับผู้ป่วยเฉพาะราย ไม่ได้นำมาสวมแล้วสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมหรือผู้ป่วยรายอื่นต่อ ดังนั้นการป้องกันตัวที่ปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่นจึงเป็นการล้างมือให้บ่อย ไม่ขยี้ตา แคะจมูก หรือนำเข้าปาก และไม่ลืมสวมหน้ากากอนามัย กับเว้นระยะหว่างจากผู้อื่นครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://themomentum.co/