ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น โรคข้อเข่าเสื่อมก่อให้เกิดความเจ็บปวด ขาโก่ง เข่าผิดรูป ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวในที่ต่างๆได้ อาการปวดข้อในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการปวดตอนเดิน หรือยืนนานๆอาการปวดจะค่อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะที่นั่งอยู่เฉยๆ มักจะไม่มีอาการปวด เมื่ออาการเป็นมากขึ้นเข่าจะเริ่มมีอาการผิดรูป เข่าโก่ง หรือเข่าฉิ่งร่วมด้วย โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดเนื่องจากมีการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ร่วมกับน้ำหนักของร่างกายที่มากจึงทำให้เกิดการเสื่อมของข้อเข่าได้มากขึ้น
สาเหตุอะไรทำให้เกิดอาการปวดเข่าในโรคข้อเข่าเสื่อม
1. มีการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า ทำให้ข้อเข่ามีอาการบวมตึง เนื่องจากเยื่อบุข้อที่อักเสบมีการสร้างน้ำไขข้อที่ไม่มีคุณภาพออกมาในปริมาณมาก จึงทำให้เกิดอาการบวมตึงขึ้นภายในข้อเข่า คล้ายกับลูกโป่งที่ขยายตัวออกทำให้ข้อเข่าตึงมากขึ้น มีอาการปวดบริเวณหลังเข่าเหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด
2. เกิดกระดูกงอกรอบๆ บริเวณข้อเข่า อันเนื่องมาจากเกิดความไม่มั่นคงของข้อเข่า ร่างกายตอบสนองด้วยการพยายามสร้างกระดูกรอบๆ ข้อเข่าขึ้นมาทดแทน กระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่นั้นไปเบียดเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ บริเวณข้อเข่า มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเพิ่มมากขึ้นในอิริยาบทที่งอเข่านาน เช่นท่านั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ เวลาลุกขึ้นยืนจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดรอบๆ บริเวณข้อเข่า
3. มีการฉีกขาดของเส้นเอ็น และหมอนรองกระดูก การทำลายกระดูกที่บริเวณกระดูกใต้ต่อผิวข้อ
4. กระดูกบริเวณข้อเข่าทั้ง 2 ด้าน มาเสียดสีกันทำให้มีอาการปวดมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยนั่งนานๆ แล้วจะลุกขึ้น ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนกับต้องพยายามตั้งไข่ก่อนที่จะเดิน ไม่เหมือนกับช่วงที่เป็นหนุ่มสาว อันเนื่องมาจากโรคข้อเข่าเสื่อมมีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งกระดูกอ่อนผิวข้อจะทำหน้าที่ลดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าและทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าเป็นไปอย่างคล่องตัว ดังนั้น เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงจึงทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าลำบาก
5. ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดเข่าจะทำให้ผู้ป่วยเสียสมดุลในการเดิน ทำให้เกิดอาการเดินกะเผลกซึ่งจะส่งผลต่อการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อบริเวณสันหลัง มีผลทำให้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงเข่าและน่องร่วมด้วย
6. มีการทำลายกระดูกบริเวณข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความดันภายในโพรงกระดูกใต้ผิวข้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวลงน้ำหนักเข่าข้างที่มีอาการปวดได้
7. การเกิดความไม่มั่นคงของเส้นเอ็นรอบๆ เข่า ทำให้เวลาเดินข้อเข่าจะโยกออกด้านข้าง ทำให้ผู้ป่วยเดินเอียง ถ้าเป็นทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยก็จะเดินเอียงทั้ง 2 ข้าง
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ประกอบด้วย
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบด้วย
• การลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยมีเป้าประสงค์ในการลดน้ำหนักอย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักร่างกาย
• การหลีกเลี่ยงท่านั่งที่ต้องงอเข่ามากๆ เช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งท่าขัดสมาธิ หรือการนั่งพับเพียบ การนั่งยองๆ
• ถ้ามีอาการปวดเข่ามาก ให้ใช้ไม้เท้าช่วยพยุงในการเดิน โดยถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับด้านที่มีอาการปวด เพื่อช่วยแบ่งการรับน้ำหนักของข้อเข่าด้านที่มีอาการปวด
• การใช้ที่รัดเข่าชนิดที่เป็นผ้า ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าสามารถใช้ลดปวดหรือบรรเทาอาการได้ นอกจากการใช้เครื่องพยุงเข่าชนิดมีแกน ซึ่งมักจะมีราคาแพงและหาได้ยากในประเทศไทย และผู้ป่วยมักจะไม่นิยมสวมใส่เพราะหนักและเกะกะ
2. การใช้ยาในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
• ยาลดปวดกลุ่มพาราเซทตามอลสามารถช่วยลดอาการปวดเข่าในโรคข้อเข่าเสื่อมได้เป็นอย่างดี ถ้าใช้ไม่ได้ผล ก็สามารถใช้ยาร่วมกับยาในกลุ่มที่เรียกว่า NSAIDs ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออ่อน มักจะนิยมใช้เป็นอย่างมากเพราะลดอาการปวดได้ไว ยาในกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น ยา Celebrex, Arcoxia, Diclofenac, Ibuprofen, Meloxicam การใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs นี้ไม่ควรทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 1 เดือน และไม่ควรใช้ยาในปริมาณมาก เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกาย เช่น ปวดท้อง การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหาร ยามีผลต่อไต ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคไตวายหรือไตไม่ดี ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้อย่างเด็ดขาด อาจก่อให้เกิดปัญหาหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีประวัติหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หรือมีประวัติการทำบอลลูน ใส่สายสวนหัวใจ ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้เพราะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นเส้นเลือดหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง
• ยากลุ่มกลูโคซามีน และน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าเทียมชนิดฉีดเข้าข้อเข่า
กลูโคซามีนเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่พบในน้ำไขข้อปกติ จะมีปริมาณลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดเนื่องจากมีการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ และทำให้ปริมาณของโปรติโอไกลแคนลดลง สารกลูโคซามีนเป็นสารตั้งต้นในการสร้างโปรตีโอไกลแคน ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้นจึงมีการแนะนำให้ทานยา กลุ่มกลูโคซามีนเสริมเพื่อชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อเข่า เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะที่เป็นการเสื่อมในระยะแรกเท่านั้น ถ้าพบว่ามีการเสื่อมของกระดูกข้อเข่ามาก เข่าผิดรูป เข่าโก่ง สูญเสียกระดูกผิวข้อ กระดูกข้อชนกัน ยากลุ่มนี้ก็ไม่มีประโยชน์ในการรักษาข้อเข่าเสื่อม อย่างไรก็ตามยากลุ่มกลูโคซามีนยังเป็นที่ถกเถียงในวงการแพทย์อยู่ว่ามีประโยชน์ในการรักษาข้อเข่าเสื่อมมากน้อยเพียงใด มีความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใดในการรักษาและชะลอการเสื่อมของข้อเข่า ความเห็นของแพทย์ก็มี 2 กลุ่ม กลุ่มแพทย์ทางประเทศสหรัฐอเมริกาก็ระบุว่า ยากลุ่มกลูโคซามีนคลอไรด์นั้นไม่มีประโยชน์ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม และไม่แนะนำให้ใช้ เพราะเป็นการสิ้นเปลือง และจัดยากลุ่มกลูโคซามีนคลอไรด์เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม แต่แพทย์กลุ่มทางประเทศยุโรปซึ่งผลิตยากลุ่มนี้เป็นกลูโคซามีนซัลเฟตก็อ้างงานวิจัยต่างๆ ว่ายากลุ่มนี้มีผลช่วยลดอาการปวดเข่า ชะลอการเสื่อมของข้อเข่ามีผลเพิ่มความหนาตัวของกระดูกอ่อนโดยทำวิจัยนานประมาณ 3 ปี เพราะองค์ประกอบของยากลูโคซามีนนั้นมีความแตกต่างกัน โดยถ้าเป็นกลูโคซามีนซัลเฟตจะสามารถช่วยลดอาการของข้อเข่าได้ดีกว่าและจัดกลุ่มกลูโคซามีนว่าเป็นยาอันตรายใช้ในการรักษาข้อเข่าเสื่อม สำหรับประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุญาติให้ยากลูโคซามีน เกลือซัลเฟต เป็นยาอันตรายที่รับขึ้นทะเบียน และจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเป็นแคปซูลและเป็นชนิดผงละลายน้ำซึ่งปริมาณที่ใช้ คือ 1,500 มิลลิกรัมและทานก่อนอาหารเพื่อให้การดูดซึมยาได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นที่ถกเถียงในวงการแพทย์ว่ายากลุ่มกลูโคซามีนจะมีความคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และเหมาะสมกับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่นอนถ้าเป็นในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมมาก ข้อเข่าผิดรูป การใช้ยากลูโคซามีน และน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมชนิดฉีดก็ไม่มีประโยชน์ เป็นการสิ้นเปลืองเสียมากกว่า สำหรับน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมชนิดฉีดก็อาจจะมีประโยชน์ในกลุ่มผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่เป็นไม่มาก มีฤทธิ์ในการลดปวด อย่างไรก็ตามในงานวิจัยหลายฉบับก็รายงานว่าประสิทธิภาพในการลดอาการปวดก็ไม่มีความแตกต่างกับการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่า ซึ่งสามารถลดอาการปวดได้ดีพอกัน และน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมก็มีราคาสูงมาก
ควรมีการเฝ้าติดตามวัดความดันของตาในผู้ป่วยที่ได้รับยากลูโคซามีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินและได้รับยากลูโคซามีน เพราะจะทำให้เกิดความดันภายในลูกตาสูงขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดเปิด ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดเปิดควรต้องระมัดระวังการใช้ยากลุ่มกลูโคซามินในระยะยาว Glucosamine Linked to Increased Intraocular Pressure http://www.medscape.com/viewarticle/804724
• การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าจะมีประโยชน์ในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อม ร่วมกับมีน้ำในข้อเข่าซึ่งเกิดจากการอักเสบ จะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้ดี ซึ่งส่วนใหญ่ที่แพทย์แนะนำให้ฉีดยาไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี ก็เพราะกลัวว่าจะมีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อเพิ่มมากขึ้น และอาจจะมีผลเสียต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามการใช้ยาฉีดสเตียรอยด์ที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงมากน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นกับปริมาณและความถี่ที่ฉีดด้วย
3. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่เป็นระยะสุดท้าย ซึ่งมักจะมีขาโก่ง เข่าผิดรูป เดินลำบาก
ลองการรักษาด้วยการทานยาและฉีดยาเป็นระยะเวลานานแล้วอาการไม่ดีขึ้น
ดังนั้น การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น การรักษาแต่ละวิธีก็จะมีความเหมาะสมสำหรับระยะของข้อเข่าเสื่อมในแต่ละระดับ รวมทั้งการใช้ยาอย่างเหมาะสมก็จะสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยสูงสุด และความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย
คำถามที่พบบ่อยสำหรับ กลูโคซามีน รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม กลูโคซามีนคืออะไร กลูโคซามีนเป็นสารประกอบประเภทน้ำตาล ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างองค์ประกอบของกระดูกอ่อน ซึ่งอยู่ที่บริเวณส่วนปลายของกระดูก กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่นได้ดี ทำหน้าที่ในการลดแรงเสียดทาน ลดแรงกระแทก ทำให้ข้อมีการเคลื่อนไหวได้ดี
เมื่อไหร่ถึงจะใช้กลูโคซามีนในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
กลูโคซามีนเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นของการเสื่อมของข้อเข่าในระยะที่ 1 – 2 เท่านั้น เพื่อชะลอการเสื่อมของโรคข้อเข่า ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีการปวดเสียวในข้อเข่า หรือมีเสียงดังลั่นในข้อเข่าร่วมกับการเสียวข้อเข่า ดังนั้น การตรวจร่างกายด้วยแพทย์ ร่วมกับการประเมินภาพรังสีเอกซเรย์ของข้อเข่าในท่ายืนจะช่วยทำให้สามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสม
กลูโคซามีนไม่เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มไหนบ้าง
1. ในกรณีที่ข้อเข่ามีอการผิดรูป ไม่ว่าจะมีลักษณะของการโก่งออกมากหรือเข่าฉิ่ง (เข่ามาชนกัน) แสดงว่ามีการเสื่อมของข้อเข่ามากแล้ว การใช้ยากลูโคซามีนก็ไม่มีประโยชน์
2. ในกรณีที่ถ่ายภาพทางรังสีแล้วพบว่ากระดูกบริเวณข้อเข่ามาชนกัน ไม่มีช่องว่างระหว่างข้อเข่า
3. ในกรณีที่มีการอักเสบของข้ออยู่มีอาการบวมนำ้ ก็ไม่ควรใช้ยากลูโคซามีนเพราะไม่มีประโยชน์
ใช้ยากลูโคซามีนอย่างไร
1. ควรรับประทานก่อนอาหาร ตอนท้องว่างจะช่วยทำให้การดูดซึมของยาได้ดีขึ้น
2. ปริมาณที่เหมาะสมของกลูโคซามีน คือ 1,500 มิลลิกรัม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของผงเพื่อผสมละลายนำ้แล้วดื่ม
ขอบคุณข้อมูลจาก http://sriphat.med.cmu.ac.th/