ตอนเด็กๆ จำได้ว่าวันหนึ่งที่ขอบตาบนขึ้นเป็น 2 เม็ด และมีอาการปวดมาก เตี่ยที่เป็นคนจีนมาจากเมืองจีนเห็นแล้ว พูดว่าลื้อแซจั้ว 你生虵 แปลเป็นไทยก็คือ ลื้อเป็นงู ถึงได้รู้ความหมายของคนจีนที่พูดว่า แซจั้ว 生虵 หมายถึง ตุ่มใสๆที่เกิดขึ้นตามร่างกายและมีอาการปวดแสบปวดร้อน จั้ว虵 ในภาษาจีนหมายถึง งู แซจั้ว生虵 น่าจะหมายถึง งูสวัด 生虵 หรือ 皰疹 หมายถึง งูสวัด
สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยโรคงูสวัดกว่า 1 ล้านรายต่อปี
ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคงูสวัดมีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป เพราะประชาชนเกือบทุกคนมักเคยเป็นโรคอีสุกอีใส ดังนั้น คนไทยวัยสูงอายุร้อยละ 95 จึงเสี่ยงเป็นโรคงูสวัด
สาเหตุงูสวัด
งูสวัดเป็นไวรัสตัวเดียวกับตัวที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส(ไวรัส Herpes zoster) คนที่ได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าวครั้งแรกในชีวิตจะเกิดอีสุกอีใส หลังจากนั้นเชื้อไวรัสนี้จะหลบเข้าไปอยู่ที่โพรงไขประสาทด้านหลัง แฝงตัวอยู่ในร่างกายเราอย่างสงบเป็นเวลาหลายปี หรือหลายสิบปี จนวันร้ายคืนร้าย ร่างกายเรามีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งอาจจะเกิดจาก ได้รับการกระทบกระเทือน ความเครียด ติดเชื้อเอชไอวี อายุที่มากขึ้น ได้รับอุบัติเหตุ มะเร็ง ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ร่างกายอ่อนเพลียสะสมเป็นเวลานานและพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือใช้ยาสเตียรอย เชื้อไวรัสตัวนี้ที่แฝงตัวอยู่จะแบ่งตัวจนเกิดเป็นงูสวัด
งูสวัดนี้เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะชายหรือหญิง แต่จะเกิดในกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก เช่น ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้น
อาการของงูสวัด
อาการเริ่มแรกของ งูสวัด จะรู้สึกไม่ค่อยสบาย อาจมีไข้ ปวดตามแนวเส้นประสาทที่จะเกิดงูสวัด
คนไข้งูสวัดบางรายเริ่มด้วยอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามเอว คนไข้งูสวัดจึงจะไปพบหมอกระดูกก่อน เพราะเข้าใจว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ
บางรายอาจจะปวดแสบปวดร้อน เหมือนถูกไฟไหม้ โดยมากเกิดเพียงซีกใดซีกหนึ่งของใบหน้า ทรวงอก แขนขา 3-4 วันต่อมาจะมีผื่นแดงๆขึ้นตรงบริเวณที่ ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท
ขอบคุณรูปจาก James Heilman
หลังจากนั้นอีก 2-3 วันต่อมา อาการของงูสวัดจะเริ่มเด่นชัดมากขึ้น ตุ่มน้ำใสจะกลายเป็น ตุ่มเหลืองขุ่นแล้วแตกและค่อยแห้งเป็นสะเก็ด
ขอบคุณรูปจาก Jonathan Trobe
แม้งูสวัดมักหายเองใน 2-3 อาทิตย์ แต่การได้รับการรักษาที่ดีทำให้ยับยั้งการเพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัสและลดการลุกลามของอาการงูสวัด นอกจากนี้ลดโอกาสของภาวะแทรกซ้อนอีกด้วย
ถ้าเป็นบริเวณหน้าควรรีบไปรักษาที่ โรงพยาบาลเพราะถ้าเกิดที่กระจกตา อาจจะทำให้กระจกตาอักเสบเป็นแผลเป็น ตาอาจพิการได้
ถ้างูสวัดลามไปหู อาจทำให้ภาวะแทรกซ้อนทางหูได้
ขอบคุณรูปจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ของงูสวัด เช่น สมองอักเสบ หรือปอดอักเสบ แต่ก็พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก ๆ
โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ถ้างูสวัดย้อนกลับไปตามเส้นประสาทเข้าไปที่ไขสันหลัง (ผื่นที่ลำตัว) ทำให้เกิดขาอัมพาต
ถ้างูสวัดลามเข้าสมอง ทำให้ติดเชื้อในเส้นเลือด เกิดเส้นเลือดอักเสบ และไวรัสทะลักเข้าไปติดเชื้อในสมอง
ขอบคุณรูปจาก Mariegriffiths
อย่างไรก็ดีเชื้องูสวัดเป็นไวรัส ไม่สามารถให้ยาที่จะฆ่ามันได้ แต่ทำให้การอักเสบสงบ เชื้องูสวัดก็กลับไปที่ไขสันหลังเหมือนเดิม วันดีคืนดีออกมาใหม่ได้
นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือ หมอแมว ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า มีผลงานวิจัย การป่วยเป็นงูสวัดเพิ่มความเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมองตีบและเส้นเลือดหัวใจตีบ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้รับการรักษา
– ภายในสัปดาห์แรกหลังเป็นงูสวัด ความเสี่ยงเส้นเลือดสมองตีบจะเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า
– ภายในสัปดาห์แรกหลังเป็นงูสวัด ความเสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบจะเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า
– ถ้าหากเป็นงูสวัดที่เส้นประสาทที่ตา จะเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่าเมื่อเทียบกับเกิดที่ตำแหน่งอื่น
– ผู้ที่ป่วยด้วยงูสวัดในช่วง 1 ปี จะมีความเสี่ยงของเส้นเลือดตีบมากกว่าคนปกติ 30%
– ความเสี่ยงนี้ไม่ได้จำกัดแต่กับผู้สูงอายุ
– การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ลดความเสี่ยงของเส้นเลือดตีบได้กึ่งหนึ่ง
ถึงแม้โรคงูสวัดจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่เราไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะถ้าเราไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่ม จะได้รับยาเร็ว และลดการปวดของคนไข้ได้ และช่วยลดอาการแผลเป็น อาการปวดหลังจากเป็นงูสวัดได้ เมื่อไหร่มีผื่นขึ้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
อาการปวดหลังจากเป็นงูสวัด
อาการงูสวัด ที่เป็นสร้างความทุกข์ให้กับผู้ที่เป็น งูสวัด มากที่สุดน่าจะเป็นอาการปวดประสาทหลังเป็น งูสวัด หรือมีชื่อเรียกว่า อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง หรือ Post Herpetic Neuralgia (PHN) ซึ่งอาจจะปวดได้อีก 3-12 เดือนในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
หลังจากแผลหายตกสะเก็ดแล้วยังมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่เป็นตลอดเวลา ในรายที่เป็นที่ลำตัวอาจจะใส่เสื้อไม่ได้เพราะ มันแสบมันร้อน ในรายที่เป็นงูสวัดที่ใบหน้าใบหน้ากระทบถูกลมก็ยังเจ็บ สัมผัสใบหน้าด้วยตัวเองยังเจ็บจนสะดุ้ง อาการนี้ยิ่ง อายุมากยิ่งเป็นนาน อาจจะนานเป็นเวลาหลายปี บางรายที่เป็นงูสวัดที่ใบหน้าก็จะมีอาการคันที่ใบหน้าและตา
จากสถิตพบว่าอาการปวดเรื้อรังในร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป
และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป จะเห็นได้ว่ายิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนาน
การวินิจฉัยโรคงูสวัด
ซักประวัติการเจ็บป่วย ลักษณะของผื่น แต่ผู้ป่วยบางคนลักษณะผื่น และตำแหน่งไม่เหมือนงูสวัดจึงจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่ม ได้แก่การเพาะเชื้อไวรัส การย้อมด้วยวิธี Direct immunofluorescence assay
หรือทำการ Tzanck smear นำเอาน้ำที่ก้นแผลมาย้อมจะพบเซลล์ตัวใหญ่ผิดปรกติ
การติดต่อของงูสวัด
เชื้อไวรัสที่อยู่ในผื่นสามารถติดต่อโดยการสัมผัส สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนก็อาจจะกลายเป็นไข้สุกใส สำหรับคนที่เป็นไข้สุกใสแล้วก็จะมีโอกาสเป็นงูสวัดเพิ่มมากขึ้น
นอกจากการสัมผัสแล้วโดยการแพร่เชื้อจะแพร่ทางลมหายใจ หากได้สูดหรือหายใจเข้าไป ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส แล้วเป็นโรคได้
ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงจากผู้ป่วยโรคงูสวัด แยกสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม และที่นอนจากผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วย ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจาย สามารถแพร่เชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้น ควรแยกผู้ป่วยไม่ให้ใกล้ชิดกับผู้ไม่เคยเป็นโรค
ความแตกต่างระหว่าง เริม กับ งูสวัด
มีอาการและลักษณะคล้ายๆ กัน วิธีการสังเกตุง่ายๆ คือ งูสวัดมีลักษณะผื่นที่เป็นปื้นกระจายตัวตามเส้นประสาท ถ้าเป็นเริมตุ่มน้ำใสจะขึ้นทีละน้อยมากันเป็นกลุ่มๆ มักจะขึ้นบริเวณเดียว เช่น ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น หรืออวัยวะเพศ
งูสวัดจะปวดแสบปวดร้อนมากกว่า ในเริมอาจแค่แสบๆ คันๆ
ความเชื่อเกี่ยวกับโรคงูสวัด
ความเชื่อ : มีคนบอกว่าเด็กๆทุกคนเกิดมาต้องเป็นอีสุกอีใส
ข้อเท็จจริง : ไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะอีสุกอีใสเป็นการติดเชื้อของไวรัส
ความเชื่อ : โบราณเขาบอกว่า คนเราเกิดมาครั้งหนึ่งเป็นอีสุกอีใส เป็นแล้วจะไม่เป็นอีก ความเชื่อนี้ผิดไหม
ข้อเท็จจริง : ถูกต้อง แต่จะฝังตัวที่เส้นประสาทตรงไขสันหลังของเรา เมื่อเราอ่อนแอเมื่อไหร่ ภูมิคุ้มกันเมื่อไหร่ มันก็จะปะทุออกมาเป็นงูสวัด
ความเชื่อ : โบราณอีกแล้วบอกว่า ถ้างูสวัดเป็นรอบคอ รอบเอว ถ้าคดมาเป็นวงกลมเมื่อไหร่จะเสียชีวิต
ขอบคุณรูปจาก Fisle
ข้อเท็จจริง : ปกติการอักเสบเส้นประสาทของงูสวัดจะเป็นเส้นเดียว คนเราจะมีเส้นประสาทสองฝั่ง ซ้ายกับขวา ซึ่งเส้นประสาทนี้จะไม่ติดกัน
เส้นประสาทนี้จะเป็นแค่เส้นเดียว เป็นซ้ายก็ซ้าย ขวาก็ขวา แบ่งตรงกึ่งกลางตัวพอดี แต่ปัจจุบันเราจะมีคนไข้ที่เป็นภูมิคุ้มกันบกพร่องมากขึ้น เช่น ในคนไข้ที่เป็นHIV ซึ่งกลุ่มนี้แทบจะไม่มีภูมิในร่างกายเลย เพราะฉะนั้นงูสวัดก็จะเป็นสองเส้นได้ ออกมาพาดกัน
จริงๆ เขาอาจจะไม่ได้เสียชีวิตจากงูสวัดก็ได้ แต่เป็นการชีวิตจากโรคของเขาเอง ไม่ได้เกิดจากงูสวัด
ความเชื่อ : เป็นงูสวัดห้ามกินไข่
ข้อเท็จจริง : ได้กิน และยังดีต่อร่างกายด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่ราคาถูก หาง่าย มีประโยชน์ นอกจากนี้ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย
ความเชื่อ : หากแม่ตั้งครรภ์เป็นงูสวัด ลูกต้องเป็นงูสวัด
ข้อเท็จจริง : ไม่เป็นความจริง ในกรณีที่แม่ตั้งครรภ์เกิดเป็นงูสวัดขึ้นมาก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะก็มีผู้เชี่ยวชาญมากมายออกมายืนยันแล้วว่าการเป็นงูสวัดไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างแน่นอน แต่ถ้าหากหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นงูสวัดในช่วงก่อนคลอดบุตร 5-21 วันก็อาจจะทำให้เด็กเป็นโรคอีสุกอีใสได้ แต่จะมีอาการเพียงไม่กี่วันแล้วก็จะหายไป
ทั้งนี้แม่ที่เป็นงูสวัดในช่วงตั้งครรภ์ก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึงได้
ความเชื่อ : เป็นงูสวัดแล้ว จะเป็นแผลเป็น
ข้อเท็จจริง : งูสวัดก็เช่นเดียวกับโรคอีสุกอีใส การดูแลตัวเองที่ดีพอ ไม่เกาที่แผลและไม่นำเข็มหรือของปลายแหลมมาจิ้มตุ่มน้ำใสให้แตก ไม่มีทางที่จะแผลเป็นอย่างแน่นอน
ดังนั้นหากมีอาการคันไม่ควรไปยุ่งกับบริเวณแผล แต่ควรรับประทานยาแก้คันแทน เพื่อบรรเทาอาการ
โดยนักโภชนาการให้ความเห็นว่า การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และเพียงพอ ทำให้ร่างกายแข็งแรงและแผลงูสวัดหายเร็วขึ้น
การรักษางูสวัด
สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคงูสวัดได้แก่เสลดพังพอนตัวผู้ เหงือกปลาหมอ พญายอ
1. เสลดพังพอนตัวผู้
สารสกัดที่อยู่ในเสลดพังพอนตัวผู้ที่มีชื่อว่า irridoid มีฤทธิ์ลดการอักเสบและมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสได้ด้วย เป็นสมุนไพรเป็นที่นิยมในการรักษางูสวัดและโรคเริม
2. เหงือกปลาหมอ
เหงือกปลาหมอ ใช้รักษาพวก ฝี แผลอักเสบ แก้น้ำเหลืองเสียนอกจากนี้ยังใช้รักษาโรคงูสวัดอีกด้วย
3. พญายอ
จากการวิจัยของคุณสมชาย แสงกิจพร และคณะจากกระทรวงสาธารณสุข โดยการทดสอบประสิทธิผลของครีมพญายอเทียบกับยา Acyclovir เพื่อรักษาโรคงูสวัด พบว่า พญายอสามารถนำมารักษาผู้ป่วยโรคงูสวัดได้ผลดี โดยทำให้แผลตกสะเก็ด และหายเร็วขึ้นกว่า Acyclovir และยังลดระดับความเจ็บปวด อีกทั้งยังลดระยะเวลาของอาการปวดด้วยเช่นกัน
การป้องกันงูสวัด
ขอบคุณรูปจาก Jason Taix
เนื่องจากไวรัสงูสวัดเป็นไวรัสตัวเดียวกับโรคอีสุกอีใส เด็กรุ่นใหม่ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่เด็กก็จะป้องกันโรคงูสวัดได้
หากอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ประวัติเคยเป็นโรคอีสุกอีใส ซึ่งวัคซีนนี้จะช่วยป้องกันและลดภาวะการเกิดโรคงูสวัด ป้องกันภาวะปวดเรื้อรัง
สำหรับในกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังเกิดงูสวัด วัคซีนนี้จะลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัดเมื่อผื่นงูสวัดหายไปแล้ว
อย่างไรก็ดีวัคซีนนี้ไม่สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคงูสวัดได้ ผู้ที่จะไปฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับวัคซีน เพราะอาจมีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ในผู้ป่วยบางรายได้
สิ่งที่ควรรู้ก็คือ วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ไม่ใช่วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส และวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้ เพราะวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดมีความเข้มข้นสูงกว่าถึง 14 เท่า
จากการศึกษาพบว่า วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถลดอุบัติการณ์เกิดโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 51.3 และป้องกันการเกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาทในผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 66.5
ขอบคุณรูปจาก skeeze
นอกจากการฉีดวัคซีนแล้วพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่นในผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด
ขอขอบคุณข้อมูล:leejangmeng.com