โรคงูสวัด เป็นโรคที่เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่เรายังเด็กๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วเราอาจจะเคยเห็นเพื่อนเป็น ญาติของเราเป็น หรือเราอาจจะเป็นเองโดยมีอาการที่เห็นกันชัดๆ คือ มีตุ่มพุพอง หรือมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน ขึ้นตามบริเวณของร่างกา ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา หน้าปก แผ่นหลัง หรือใบหน้า และอาจมาพร้อมกับการมีไข้
แม้ว่าตอนเด็กๆ เป็นแล้วเราจะห่วงเรื่องของแผลเป็นที่อาจฝากรอบทิ้งเอาไว้บนร่างกาย แต่ที่น่ากังวลกว่า คือโรคงูสวัดในคนชรา ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กล่าวว่า โรคงูสวัดอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตผู้ป่วย อาทิ เกิดอาการเหน็บชา ขยับร่างกายไม่ได้ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน สูญเสียความมั่นใจ ไม่อยากเข้าสังคม และยิ่งผู้ป่วยมีอายุมาก อาการก็อาจจะรุนแรงตามไปด้วย และอาจเรื้อรังเป็นแรมปี
โรคงูสวัด คืออะไร?
อาจารย์ พญ. อรพิชญา ไกรฤทธิ์ หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า “โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใสที่หลบซ่อนอยู่ในปมประสาทใต้ผิวหนังหลังจากมีการติดเชื้อชนิดนี้ครั้งแรก โดยเชื้อไวรัสจะแฝงตัวอยู่เป็นเวลานานหลายสิบปี จนเมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะจากการที่อายุมากขึ้น เชื้อที่แฝงตัวอยู่จะกระจายตัวตามปมประสาททำให้เส้นประสาทถูกทำลาย โดยจะแสดงอาการออกมาเป็นผื่นแดงและตุ่มน้ำใสๆ เรียงตัวเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการที่ตามมา นั่นคืออาการปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณผิวหนัง แม้บางครั้งถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันโดยตรง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการนอนได้”
อาการของโรคงูสวัด
อาการของโรคงูสวัดจะเริ่มจากการปวดแสบร้อนบริเวณชายโครง, ใบหน้า และแขน เมื่อผ่านไปได้สัก 2-3 วันจะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแสบและกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ตามปกติผื่นอาจจะหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด
โรคงูสวัดอาจหายได้เองโดยไม่มีอันตรายใดๆ มาก แต่หากมีอาการแทรกซ้อน อาจทำให้เป้นอันตรายต่อร่างกายได้มากกว่าเดิม เช่น อาการปวดเรื้อรังอีก 3-12 เดือน การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณตา ภาวะแทรกซ้อนทางหู หรืออาจรุนแรงระดับปอดอักเสบและเยื้อหุ้มสมองอักเสบที่ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนพบมากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยอายุเกิน 50 และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุเกิน 70 ปี
“งูสวัด” กับ 3 สิ่งยอดฮิตที่คุณอาจเข้าใจผิดมาโดยตลอด
- งูสวัด พันรอบเอวแล้วจะเสียชีวิต?
ตอบ ไม่จริง โรคงูสวัดจะก่อให้เกิดผื่นขึ้นเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย แต่ในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอาจลุกลามมากกว่าปกติ และเสี่ยงต่อชีวิต โดยเฉพาะหากมีอาการติดเชื้อซ้ำซ้อน
>> จริงหรือไม่? งูสวัดขึ้นรอบตัวแล้วจะเสียชีวิต? - เคยเป็นงูสวัดแล้ว จะไม่เป็นซ้ำอีก?
ตอบ ไม่จริง แม้ว่าโดยส่วนใหญ่ โรคงูสวัดจะไม่เป็นซ้ำอีก แต่หากร่างกายอยู่ในสภาวะอ่อนแอ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ก็มีโอกาสที่จะเป็นซ้ำได้ - เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้ ไม่ต้องฉีดวัคซีนซ้ำ?
ตอบ ไม่จริง เราสามารถฉีดวัคซีนโรคงูสวัดเพิ่มได้ เพราะถึงแม้ว่าเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส กับโรคงูสวัดจะเป็นชนิดเดียวกัน แต่สำหรับวัคซีนโรคงูสวัด จะมีความเข้มข้นมากกว่าวัคซีนโรคอีสุกอีใสถึง 14 เท่า ดังนั้นถึงแม้ว่าวัคซีนทั้งสองชนิดจะสามารถปกป้องร่างกายจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน แต่ไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้
>> รู้ยัง? “งูสวัด” มีวัคซีนป้องกันด้วยนะ
ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคงูสวัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และหากใครที่ยังไม่เคยเป็นโรคงูสวัด หรือไม่อยากเป็นซ้ำเพราะมีความเสี่ยง สามารถสอบถามแพทย์เพื่อขอรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้
ขอขอบคุณข้อมูล:sanook.com