สุขภาพผู้สูงอายุ

สร้างจิตใจที่แจ่มใสให้ผู้สูงอายุด้วยกิจกรรมทางสังคม

Views

ความชราคือธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ในสังคมผู้สูงอายุมักจะถูกมองว่าเป็นคนแก่เลอะเลือน ทำอะไรไม่ค่อยได้ ความคิดอ่านโบราณ เหมือนเป็นดอกไม้ที่ใกล้โรยราเต็มที อย่างไรก็ตามหากดอกไม้ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงฉันใด ผู้สูงอายุก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่ฉันนั้น เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งสุขภาพร่างกายเสื่อมลงและจิตใจแปรปรวน

ผลกระทบด้านจิตใจของผู้สูงอายุ

ปัญหาด้านสภาพจิตใจของผู้สูงอายุเกิดจากความรู้สึกสูญเสีย ทั้งคนใกล้ชิดอย่างบุตรหลานที่ค่อยๆ เติบโตแยกย้ายไปมีครอบครัว รวมถึงเพื่อนสนิทหรือคู่ชีวิตที่ล้มหายตายจากไป สูญเสียความสามารถการเป็นที่พึ่ง ภาวะผู้นำ การยอมรับจากผู้อื่น อีกทั้งโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพสังคมแบบในอดีตเริ่มเลือนหายไป การแข่งขันสูงขึ้น จากครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเล็ก เป็นต้น

ด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะกลับไปเป็นเหมือนเด็กที่ต้องการการพึ่งพาอาศัยจากผู้อื่น สัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพจิตอย่างใกล้ชิดมีดังนี้

  • มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เบื่อหน่าย
  • ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ค่อยๆ แยกตัวออกมาจากสังคม
  • ไม่อยากทำอะไร
  • มีความเกี่ยวข้องกับโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ขาดกำลังใจ

จากสัญญาณเตือนเหล่านี้ สามารถพัฒนาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่า 10-20% ของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีมีภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะผู้หญิง และยิ่งมีอายุมากความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้อัตราฆ่าตัวตายยังพบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ สะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงของคนสูงวัย

การดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากคนใกล้ชิด แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นผู้ใหญ่ที่เคารพรักต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า ด้วยวัยที่ห่างกันอาจจะทำให้การสื่อสารแตกต่างกันบ้าง ลูกหลานควรพยายามปรับตัวเพื่อที่จะเข้าใจคนวัยนี้มากขึ้น สิ่งแรกที่แนะนำให้ทำคือทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนรวมกับครอบครัว โดยการใช้เวลาอยู่กับผู้สูงอายุพูดคุยและรับฟัง รวมถึงดูแลใส่ใจด้านสุขภาพ พาผู้สูงอายุในบ้านไปพบแพทย์

นอกจากการสนับสนุนภายในครอบครัวแล้ว สังคมภายนอกเองก็มีผลอย่างมาก ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่แต่ในบ้านมีแนวโน้มเกิด “ภาวะเนือยนิ่ง” คือมีความรู้สึกห่อเหี่ยว หดหู่ ดังนั้นการทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจจะสามารถช่วยเยียวยาจิตใจผู้สูงวัยได้มากทีเดียว

กิจกรรมทางสังคมจะช่วยส่งเสริมผู้สูงอายุอย่างไร?

กิจกรรมทางสังคมจะทำให้ผู้สูงอายุได้พบปะกับผู้อื่นในวัยใกล้เคียงกัน จึงไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ปรับตัวและยอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น สนับสนุนให้พวกเขามีความนับถือในตัวเอง ป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า แนวทางการจัดกิจกรรมสังคมควรจะมีความหลากหลายและสามารถแก้ปัญหาของผู้สูงอายุได้ เช่น ช่วยดูแลสุขภาพ ทำให้จิตใจสดชื่น มีความภูมิใจในชีวิต จัดการกับสภาวะอารมณ์ เป็นต้น

กิจกรรมทางสังคมที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ

กิจกรรมรูปแบบออกกำลังกาย

ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที หรือมีกิจกรรมทางกายสะสมรวม 150 นาที/สัปดาห์ คนใกล้ชิดอาจมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อผู้สูงอายุทำกิจกรรมทางกาย แต่กิจกรรมนี้มีประโยชน์อย่างมากเพราะทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เพิ่มความแข็งแรง ทนทาน เพราะสุขภาพกายมีผลต่อสุขภาพจิตโดยตรง นอกจากนี้การออกกำลังกายยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลได้

การออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ เดินเร็วหรือเดินแกว่งแขนเร็วๆ ว่ายน้ำ รำมวยจีน ไทเก๊ก เต้นลีลาศ ถีบจักรยานอยู่กับที่ ยกน้ำหนักเบาๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา บีบลูกบอลยางเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งมือ โยคะ หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

สามารถผสมผสานกิจกรรมการออกกำลังกายเข้ากับเกมเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน ผู้สูงอายุจะได้มีอารมณ์ขัน สุขภาพจิตดีขึ้น แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัยด้วยเช่นกัน

กิจกรรมเผยแพร่ความรู้

“อาบน้ำร้อนมาก่อน” ข้อดีของผู้สูงอายุคือมีวุฒิภาวะและประสบการณ์อย่างมาก จึงสามารถเป็นที่ปรึกษา แบ่งปันความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ กิจกรรมรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ผู้สูงอายุบางท่านมีความสามารถในงานวิชาชีพ เช่น งานฝีมือ แกะสลัก ทำอาหาร ทำขนมสูตรโบราณ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น การแบ่งปันความรู้เช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสืบทอดวิชาชีพให้คงอยู่ แต่ยังทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจได้อีกด้วย

กิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้ผู้สูงอายุ  

ในทางกลับกันการให้ความรู้ใหม่ๆ กับผู้สูงอายุก็สามารถพัฒนาด้านจิตใจได้ ผู้สูงอายุจะได้มีงานอดิเรกทำในยามว่าง เช่น จัด Workshop สอนทักษะการถ่ายภาพ หรือสอนการใช้งานสื่อออนไลน์ เป็นต้น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวไม่ใช่กิจกรรมสำหรับวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้ผู้สูงอายุได้เปิดหูเปิดตา พบเจออะไรใหม่ๆ มีความผ่อนคลาย ลดความเบื่อหน่ายได้อย่างมาก รูปแบบการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุควรเน้นที่คุณภาพดี มีความคุ้มค่า คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ผสมผสานกับกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เช่น เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ทัวร์ย้อนวันวาน ทัวร์อาหารอร่อย เป็นต้น  

กิจกรรมตามประเพณีและศาสนา

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเนื่องในเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หลังจากลูกหลานต้องแยกย้ายกันทำงาน ในโอกาสนี้ควรกลับบ้านเพื่อเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ นี่เป็นช่วงเวลาที่จะได้พบปะกับครอบครัว ใช้เวลาพร้อมหน้าพร้อมตาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างรดน้ำดำหัว

กิจกรรมพัฒนาสังคม

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น ทำบุญตักบาตร ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ช่วยเหลือเด็กยากไร้ บริจาคทรัพย์ ผู้สูงอายุสามารถใช้เวลาว่างเพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ในขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อผู้ให้ในแง่ทำให้จิตใจเบิกบาน มีความสุขกลับมาด้วย

กิจกรรมธรรมปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรม เช่น สวดมนต์เพื่อระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การถือศีล 5 หรือศีล 8 เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมักจะปฏิบัติอยู่เป็นประจำ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้สำรวมกาย วาจา ใจ ฝึกกำหนดรู้ในทุกๆ อิริยาบทและลมหายใจ ธรรมะจึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้ผู้สูงอายุเข้าใจความเป็นไปของโลก ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเกิดความสุขสงบอย่างแท้จริง

สรุป

วัยชราไม่ใช่วัยที่ไร้ประโยชน์เพียงเพราะร่างกายเสื่อมถอยลง มีหลายคนสร้างคุณงามความดีให้กับโลกมากมายแม้อายุจะล่วงเลยมาถึงช่วงบั้นปลายชีวิต เช่น เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง ศาสตราจารย์นายแพทย์ชาวอังกฤษ ค้นพบยาเพนิซิลลินเมื่ออายุ 70 ปี และอับเบิร์ต ชไวท์เซอร์ ได้รับรางวัลโนเบลเมื่ออายุ 80 ปี

ผู้สูงอายุจึงเป็นวัยที่มีคุณค่า เพราะเต็มไปด้วยประสบการณ์ชีวิตและความรู้ ดั่งต้นไม้ใหญ่ที่ยิ่งอายุมากก็ยิ่งแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็น ด้วยการเปลี่ยนแปลงของวัยและสภาพสังคมอาจจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง คนรอบตัวจึงควรให้การดูแลใส่ใจ กิจกรรมทางสังคมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย เพิ่มความนับถือตัวเอง กลายเป็นต้นไม้ที่หยั่งรากลึกให้แก่ลูกหลานต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูล:multimedia.anamai.moph.go.th

Leave a Reply