นิ่วในไต

ปวดนิ่ว คลื่นไส้ ปัสสาวะขัด อาจเป็นสัญญาณของ “นิ่วในไต”

Views

นิ่วในไต หรือ Kidney stone คือ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก สามารถพบได้ในประชากรทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงอายุ 20-49 ปี

เป็นนิ่วในไตเสี่ยงโรคไตเสื่อม-เบาหวาน-ความดัน

หลายคนอาจไม่เคยทราบว่านิ่วในไตมีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่มความเสี่ยงของโรคไตเสื่อม(chronic kidney disease), ไตวาย(end-stage renal failure), โรคหัวใจ(cardiovascular disease), เบาหวาน(diabetes) และโรคความดันโลหิตสูง(hypertension) พบอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของโรคนิ่วค่อนข้างสูง จากการศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดนิ่วซ้ำที่ 50% ใน 5-10 ปี และ 75% ในรอบ 20 ปี ดังนั้นนอกจากรักษานิ่วในไตให้หายดีแล้วควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำด้วยเช่นกัน

ชนิดของนิ่วในไตเป็นอย่างไร?

  1. Calcium stones เป็นชนิดที่พบมากที่สุด ประมาณ80% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะทั้งหมด
  2. Struvite or Magnesium ammonium phosphate stones พบประมาณ10-15% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และมักสัมพันธ์กับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง โดยนิ่วชนิดนี้มักมีสัดส่วนการพบในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย
  3. Uric acid stones or Urate เป็นนิ่วที่พบได้ประมาณ3-10% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มักพบได้ในคนที่รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purines)สูง โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ,ดื่มน้ำน้อย และมีความเป็นกรดในน้ำปัสสาวะสูง
  4. Cystine stones พบได้น้อยกว่า2% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม(genetic disorder) ทำให้ร่างกายขับสาร cystineออกมามากในน้ำปัสสาวะ
  5. Drug-induced stones พบประมาณ1% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยยาที่มักสัมพันธ์ต่อการเกิดนิ่ว ได้แก่ guaifenesin, triamterene, atazanavir และ sulfa drugs

อาการแบบไหนเป็นสัญญาณของนิ่วในไต

  • ปวดนิ่ว (Renal colick) โดยมักปวดบริเวณสีข้าง มักปวดทันทีทันใด อาจมีอาการปวดร้าวมายังถุงอัณฑะในผู้ชาย หรืออุ้งเชิงกรานในผู้หญิง
  • คลื่นไส้ อาเจียน มีปัสสาวะขัด อาจมีปัสสาวะเป็นเลือดได้ หรือมีไข้ ในกรณีมีการติดเชื้อร่วมด้วย หรือนิ่วมีการอุดขวางทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในไตรักษาได้

ปัจจุบันการรักษานิ่วในไตมีหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกแนวทางการรักษา โดยพิจารณาจากขนาดของนิ่ว ต่ำแหน่ง จำนวนของนิ่ว ความแข็งของนิ่ว ลักษณะของรูปร่างไต และสภาพความพร้อมของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

4 วิธีรักษา “นิ่วในไต”

  1. การสลายนิ่ว (Extracorporeal shock wave lithotripsy:ESWL) เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับนิ่วในไตขนาดไม่ใหญ่มากนัก และนิ่วมีความแข็งไม่มาก โดยมักมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก และนิ่วที่อยู่ด้านล่างของไต(lower pole stones) ซึ่งจะทำให้ได้ผลการรักษาสำเร็จที่ลดลง
  2. การผ่าตัดรักษานิ่วในไตผ่านรูที่ผิวหนัง (Percutaneous nephrolithotomy:PCNL) เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับนิ่วขนาดกลางถึงใหญ่ ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญและเครื่องมือเฉพาะสำหรับการกรอนิ่วผ่านทางรูที่ผิวหนัง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเสียเลือดมากอยู่
  3. การผ่าตัดรักษานิ่วในไตโดยวิธีส่องกล้องผ่านทางท่อไต (Retrograde intrarenal surgery:RIRS) วิธีนี้เป็นเทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม  เพราะสามารถรักษานิ่วในไตขนาดเล็กถึงกลางได้ดี โดยที่ผู้ป่วยไม่มีบาดแผล เสี่ยงต่อการเสียเลือดน้อย และระยะพักฟื้นหลังผ่าตัด
  4. การผ่าตัดเปิดเพื่อรักษานิ่ว วิธีนี้ได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน เพราะต้องมีบาดแผลขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงต่อการเสียเลือด

ขอขอบคุณ:phyathai.com

Leave a Reply