มะม่วงหาวมะนาวโห่ สรรพคุณ 2 สมุนไพรเด่น มีฤทธิ์รักษาโรค บำรุงร่างกาย ผู้รักสุขภาพไม่ควรพลาด พร้อมวิธีปลูกมะม่วงหาว มะนาวโห่
มะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่ พันธุ์ไม้ชื่อแปลกนี้ มีที่มาจากการที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ได้เรียกชื่อผลไม้ชนิดดังกล่าว ให้สอดคล้องกับผลไม้ในวรรณคดีไทย เรื่องนางสิบสอง ตอน พระรถเมรี ที่ในเรื่องได้กล่าวถึงผลไม้สดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรสชาติเปรี้ยวจัด จนทำให้ผู้ที่กำลังง่วงนอน เมื่อรับประทานผลไม้ชนิดนี้เข้าไปแล้ว จะรู้สึกกระชุ่มกระชวยและตื่นตัวขึ้นมาทันที
ในปัจจุบันมีการเรียกชื่อ มะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่ เพียงสั้น ๆ ว่า มะม่วงหาว มะนาวโห่ รวมถึงผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ได้เริ่มหันมาสนใจผลไม้ชนิดนี้มากขึ้น เนื่องจากวงการแพทย์ได้ระบุว่า มะม่วงหาว มะนาวโห่ มีฤทธิ์ทางยา สามารถนำไปใช้รักษาโรค หรือรับประทานควบคู่กับยาแผนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ยังมีหลายคนที่ไม่ทราบว่า แท้จริงแล้ว มะม่วงหาว กับ มะหนาวโห่ เป็นพืชคนละชนิดกัน โดย มะม่วงหาว คือ มะม่วงหิมพานต์ ขณะที่ มะนาวโห่ คือ หนามแดง ซึ่งวันนี้เราได้นำรายละเอียดของสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์กรสวนพฤกษาศาสตร์ มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับมะม่วงหาว
ชื่อ : มะม่วงหิมพานต์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anacardium occidentale Linn.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE
ชื่อเรียกอื่น : ยาโงย ยาร่วง มะม่วงไม่รู้หาว มะม่วงกุลา มะม่วงกะสอ มะม่วงลังกา มะม่วงสิงหน มะม่วงเล็ดล่อ และมะม่วงหยอด
ลักษณะ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 10 เมตร มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม ออกสลับกันเป็นรูปไข่กลับ โคนใบสอบ ปลายใบมนป้าน กว้าง 7.5-10 เซนติเมตร ยาว 7.5-20 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อหลวม ๆ สีแดงอมม่วงหรือสีครีม กลิ่นหอมเอียน ช่อดอกยาว 15-20 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 8-10 อัน มีหนึ่งอันที่ยาวกว่าอันอื่น
ผลมีลักษณะเด่น คือ เมื่อแก่ฐานรองดอกจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นลักษณะคล้ายผลชมพู่ ยาว 6-7 เซนติเมตร สีเหลืองอมชมพู เมื่อแก่จัดจะมีสีแดงและมีกลิ่นหอม เมล็ดมี 1 เมล็ด ติดอยู่ที่ส่วนปลายรูปไต ยาว 2.5-3 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมเทา มีเปลือกแข็งหุ้ม
การกระจายพันธุ์ : เป็นไม้ที่ปลูกกันมากทางภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันปลูกได้ทุกภาค ในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ก็สามารถขึ้นได้ดี
สรรพคุณ มะม่วงหาว :
ผล : ฆ่าเชื้อ ขับปัสสาวะ พอกดับพิษ แก้โรคลักปิดลักเปิด
เมล็ด : แก้กลากเกลื้อน แก้เนื้อหนังชาในโรคเรื้อน แก้โรคผิวหนัง แก้ตาปลา แก้เนื้องอก บำรุงไขข้อ บำรุงกระดูก บำรุงเส้นเอ็น บำรุงกำลัง บำรุงผิวหนัง
เปลือก : แก้บิด ขับน้ำเหลืองเสีย แก้ท้องเสีย แก้กามโรค ทำยาอมรักษาแผลในปาก แก้ปวดฟัน พอกดับพิษ
ยอดอ่อน : รักษาริดสีดวงทวาร
ยาง : ทำลายตาปลา กัดทำลายเนื้อที่ด้านเป็นปุ่มโต แก้เลือดออกตามไรฟัน รักษาหูด รักษาขี้กลาก แผลเนื้องอก โรคเท้าช้าง
น้ำมัน : ฆ่าเชื้อ ทาถูนวดให้ร้อนแดง ยาชา รักษาโรคเรื้อน กัดหูด แก้ตาปลา แก้บาดแผลเน่าเปื่อย
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับมะนาวโห่
ชื่อ : หนามแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carissa carandas L.
ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE
ชื่อเรียกอื่น : หนามขี้แฮด มะนาวไม่รู้โห่ และมะนาวโห่
ลักษณะ : ไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง 5 เมตร มียางขาว ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปขอบขนาน หรือรูปไข่ กว้าง 1.5-4 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ปลายมนหรือเว้าบุ๋ม ดอกออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 3.5-5.5 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว หรือสีชมพู โคนเชื่อมเป็นหลอด ยาว 16-21.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉก ผลรูปไข่ กว้าง 12-17 มิลลิเมตร ยาว 15-23 มิลลิเมตร สีแดง ชมพู หรือดำ
การกระจายพันธุ์ : เป็นพืชปลูกที่คาดว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย พบในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา พม่า จีน และไทย
สรรพคุณทางยา มะนาวโห่ :
ราก : แก้คัน ทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับพยาธิ บำรุงกระเพาะอาหาร ดับพิษร้อน แก้ไข้
แก่น : บำรุงไขมันในร่างกาย บำรุงธาตุ ทำให้ร่างกายแข็งแรง
เนื้อไม้ : บำรุงไขมันในร่างกาย บำรุงธาตุ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง
ใบ : แก้ท้องเสีย แก้เจ็บคอ เจ็บในปาก แก้ปวดหู แก้ไข้
ผล : รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ฝาดสมาน
จากภาพและข้อมูลเหล่านี้ น่าจะทำให้เห็นถึงความแตกต่างของพืชสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดได้มากขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่า มะม่วงหาว มะนาวโห่ ที่หลาย ๆ คนเคยรู้จัก น่าจะหมายถึง ผลมะนาวโห่ เสียมากกว่า ส่วนการปลูกต้นมะนาวโห่นั้น ทำได้ง่าย ๆ เนื่องจากมะนาวโห่ขึ้นได้ในดินทุกชนิด โดยมีขั้นตอนดังนี้
วิธีการปลูกมะนาวโห่ โดยใช้เมล็ด
1. เตรียมกระถางสำหรับเพาะเมล็ด ใส่ดินผสมแกลบหรือกากมะพร้าวลงไป โดยเว้นช่องดินให้รากชอนไชได้ จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม
2. โรยเมล็ดลงไป จากนั้นโรยดินกลบเมล็ดเพียงบาง ๆ แล้วรดน้ำอีกเล็กน้อย
3. ตั้งกระถางรับแดดบ้าง แต่อย่าเพิ่งให้โดนแดดจัด จากนั้นประมาณ 10 วัน ต้นอ่อนก็จะเริ่มโต
4. เมื่อต้นกล้าแข็งแรงขึ้น ค่อยทำการแยกปลูกเป็นต้นเดี่ยวต่อไป
สำหรับใครที่รักสุขภาพและกำลังมองหาสมุนไพรพันธุ์ดีมาปลูกไว้ในบ้าน เพื่อนำผลมารับประทาน มะนาวโห่ ดูจะตอบสนองความต้องการได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น เมนูมะม่วงหาวมะนาวโห่ จากรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง ที่มีทั้งผัดไทย น้ำพริก เลยทีเดียว ดังนั้น หากมีโอกาสก็อย่าลืมลองหามารับประทานกันดูนะคะ
ภาพจาก ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์กรสวนพฤกษาศาสตร์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์กรสวนพฤกษาศาสตร์
medplant.mahidol.ac.th
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://health.kapook.com/