โรคหลอดเลือดสมอง

‘โรคหลอดเลือดสมอง’ รู้ทัน รักษาได้

Views

โรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้ หากดูแลสุขภาพ สังเกตความผิดปกติของร่างกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องอาหาร อารมณ์และออกกำลังกายอยู่เสมอ 

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) จึงได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) ซึ่งในปีนี้ได้มีการรณรงค์ว่า “1/4 ของคนรอบข้างอาจจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อย่าให้คนรอบข้างเป็นโรคหลอดเลือดสมอง”  เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในดูแลรักษาตนเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันว่า “โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต” ซึ่งหากประชาชนรู้จักวิธีดูแลตนเองและหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ จะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้ สำหรับประเทศไทยพบโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข  โดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการรักษาพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคระบบประสาท ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชน ในเรื่องปัจจัยเสี่ยง สัญญาณเตือนของโรค แนวทางการรักษาเมื่อพบอาการของโรค รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันทั้งในเรื่องรับประทานอาหารหลากหลาย อารมณ์แจ่มใสและที่สำคัญคือการออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงจะทำให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ น้ำหนักเกิน ต้องพยายามหลีกเลี่ยงหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเองมีหลักการจำตามอักษรย่อภาษาอังกฤษว่า FAST  คือ F = Face ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพผิดปกติ  A = Arm  อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง S=Speech ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก T= Time เวลาที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดทันที อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้และเร็วที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ สำหรับแนวทางป้องกันสามารถเริ่มทำได้เองที่บ้าน ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวานจัด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้าบุหรี่ ลดน้ำหนักตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ สถาบันประสาทวิทยา จะจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงและอาการเริ่มแรกของโรคหลอดเลือดสมอง ในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2562  ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา พบกับกิจกรรมการตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง  บรรยายเรื่อง “โรคหลอดเลือดสมอง รู้ทัน ป้องกัน รักษาได้”  ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อร่วมด้วยช่วยกัน หยุดยั้งการเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกับสถาบันประสาทวิทยา

ข้อมูลจาก : https://www.bangkokbiznews.com

Leave a Reply