ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่พบการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ทั่วโลก ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออก 142,925 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2557 ถึง 247% ส่วนปี 2559 มีผู้ติดเชื้อประมา ณ 5 หมื่นราย เสียชีวิต 57 ราย และจากสถิติของทวีปเอเชีย ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออก เป็นอันดับที่ 2 รองจากฟิลิปปินส์ กลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุด คืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ เรียกได้ว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย จาก 2 สาเหตุ คือภาวะเลือดออกมาก และเลือดรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต ด้วยสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้นอย่างประเทศไทย จะยิ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับมีฝนตก ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมาก และเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมื่อมีฝนตกมากคนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น ไวรัสเดงกี เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก มี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 ประเทศไทยมีการระบาดของ 4 สายพันธุ์วนเวียนกันไปแล้วแต่พื้นที่ ไวรัสเดงกีมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะยุงตัวเมียซึ่งกัดเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหารเข้าสู่กระเพาะ สะสมในเซลล์ผนังกระเพาะจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น เข้าสู่ต่อมน้ำลาย และเข้าในร่างกายคนที่ถูกกัดเป็นรายต่อไป เชื้อไวรัสเดงกีมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนอื่นอีกก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนาน 5-8 วัน หรือสั้นที่สุด 3 วัน ยาวนานที่สุด 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของโรคจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบ คือ
- มีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก
- มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน
- ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก
- สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คืออาการช็อก ที่ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว
- บางรายมีภาวะตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
- มีภาวการณ์ไหลเวียนล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด ช่องท้อง เกิด hypovolemic shock ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดอาการช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง
อาการป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เลือดออก และช็อกได้ ส่วนการวินิจฉัยโรคในช่วงแรกจะแยกจากอาการไข้ทั่วไปค่อนข้างยาก ต้องตรวจจากการเจาะเลือด ซึ่งหากป่วยเพียง 1-2 วัน การเจาะเลือดอาจจะไม่พบเชื้อ ต้องใช้เวลา 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลด้วย-hg]nvfvvd