อาการของโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องกลางท้องช่วงบน ลักษณะการปวดคือรู้สึกปวดแน่น หรือแสบร้อนสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น หลังรับประทานอาหารอาการปวดท้องจะดีขึ้นหรือแย่ลง บางคนมีอาการอิ่มง่าย อิ่มเร็ว ระยะเวลาของการปวดอาจเป็นวันหรือเป็นเดือน หรือมีลักษณะเป็นๆหายๆ โดยส่วนใหญ่ไม่รุนแรงแต่ถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกที่กระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหารทะลุ, กระเพาะอาหารอุดตัน, มะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยก็อาจเสียชีวิตได้
สาเหตุโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่
- การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด
- รับประทานยาแก้ปวดชนิดที่กัดกระเพาะอาหาร
- รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ความเครียด
- รับประทานอาหารรสเผ็ด
- รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
เชื้อเอชไพโลไร คืออะไร?
“เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร” เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในเยื่อบุกระเพาะ ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุกระเพาะ เกิดแผล และมะเร็งกระเพาะอาหารได้
แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหาร
สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา โดยมีวิธีแก้ปวดท้องโรคกระเพาะในเบื้องต้น ดังนี้
- รับประทานแต่ละมื้อให้น้อยลง
- งดอาหารรสเผ็ดและรสจัด
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์และกาแฟ
- งดการสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ปวดท้องแบบไหนเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
1. มีอาการปวดท้องในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
2. เลือดออกทางเดินอาหาร (อาเจียนมีเลือดปน, ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดปน หรือถ่ายอุจาระมีสีดำ), น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ, อาเจียนบ่อยๆทุกวัน
3. ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการใช้ยาลดกรดแบบเม็ด เป็นระยะเวลา 4 – 8 สัปดาห์หลังการรักษา
4. มีอาการเป็นๆหายๆบ่อยครั้ง, มีประวัติมะเร็งกระเพาะอาหารหรือทางเดินอาหารของญาติสายตรงลำดับหนึ่ง (ได้แก่ พ่อ, แม่, พี่, น้อง)
ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวเบื้องต้นควรได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ซึ่งการส่องกล้องกระเพาะอาหารเป็นหัตถการที่ปลอดภัยและมีภาวะแทรกซ้อนน้อย ทำได้โดยการพ่นยาชาเฉพาะที่บริเวณในช่องคอ หรือยาฉีดทางหลอดเลือดดำเพื่อให้ผู้ป่วยหลับ และนำกล้องลักษณะคล้ายท่อขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ผ่านช่องคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อให้เห็นการอักเสบ แผล หรือเนื้องอก ทั้งนี้ การส่องกล้องยังสามารถบันทึกภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว, สอดที่ตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กผ่านทางกล้อง เพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิเพื่อหามะเร็ง เป็นต้น
“โรคกระเพาะ (อาหารอักเสบ) เป็นโรคที่พบได้บ่อย ดังนั้น ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อให้คำแนะนำและการรักษา และทราบวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นหากป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการซึ่งเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ขอขอบคุณ:sikarin.com