หลายคนคงคุ้นเคยกับวัยทองของผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้น ร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนเพศน้อยลงและเป็นเหตุให้เกิดวัยทองผู้ชายได้เช่นกัน แต่คุณผู้ชายทั้งหลายจะสังเกตอาการและรับมือเมื่อเข้าสู่วัยทองได้อย่างไร สามารถศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้
ทำความรู้จักกับวัยทองผู้ชาย
วัยทองผู้ชายเป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหรือแอนโดรเจนที่ลดต่ำลง ฮอร์โมนเหล่านี้เป็นฮอร์โมนเพศชายที่ถูกผลิตจากลูกอัณฑะ ทำหน้าที่เกี่ยวกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก เสียงที่ทุ้มหรือต่ำลง รวมถึงแรงขับทางเพศด้วย ซึ่งจะมีการผลิตฮอร์โมนดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นและลดต่ำลงเมื่อแก่ตัวลง ทั้งนี้ การผลิตฮอร์โมนนี้จะค่อย ๆ ลดลงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเมื่อย่างเข้าสู่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป โดยวัยทองผู้ชายอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุ 45-50 ปี และอาจมีอาการมากขึ้นในช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป
นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเพศชายแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ระดับเทสโทสเตอโรนลดลงเร็วกว่าปกติจนนำไปสู่ภาวะวัยทองผู้ชายได้ เช่น
- กรรมพันธุ์
- ความเครียด
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
- พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การทำงานหนัก การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การสูบบุหรี่ การออกกำลังกายอย่างหักโหม เป็นต้น
- ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไตวาย ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
วัยทองผู้ชายต่างจากวัยทองผู้หญิงอย่างไร ?
เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน รังไข่ของผู้หญิงจะหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น ซึ่งต่างจากวัยทองผู้ชาย เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของลูกอัณฑะจะค่อย ๆ ลดลงและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ แต่ก็ยังคงมีการผลิตฮอร์โมนดังกล่าวอยู่ และแม้จะลดการผลิตฮอร์โมนเพศลง แต่หากผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปมีสุขภาพดี ร่างกายก็จะยังสามารถผลิตสเปิร์มได้ต่อไป
วิธีสังเกตอาการวัยทองผู้ชาย
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจนทำให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทอง อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่างตามมาได้ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ รวมถึงเรื่องทางเพศ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มักแย่ลงเมื่อมีอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สามารถสังเกตอาการของตนเองหรือคนใกล้ตัวที่เข้าสู่ช่วงวัยทองผู้ชายได้ เพื่อเตรียมการรับมือและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมต่อไป ดังนี้
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ นกเขาไม่ขัน มีลูกยาก อัณฑะมีขนาดเล็กลง
- การเผาผลาญไขมันลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง หรือมีไขมันส่วนเกินสะสมที่หน้าอก
- ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
- มีอาการร้อนวูบวาบ
- หัวล้าน ผมบาง ผมร่วง รวมถึงขนตามร่างกายก็อาจร่วงได้ด้วยเช่นกัน
- นอนไม่ค่อยหลับ
- เครียด อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือมีอาการซึมเศร้า
- ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่มีแรงจูงใจในการทำกิจกรรม
- มีสมาธิลดลง และมีปัญหาเกี่ยวกับการจดจำสิ่งต่าง ๆ
วิธีรักษาและรับมือกับผู้ชายวัยทอง
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีปัญหาวัยทองผู้ชายมักไม่กล้าหรืออายที่จะไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัญหาทางเพศที่เกิดขึ้น หากอาการต่าง ๆ ไม่สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แพทย์มักให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและไม่หักโหมจนเกินไป ทำงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไม่เพียงส่งผลดีต่อชายที่มีปัญหาวัยทองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปทุกเพศทุกวัยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือผลวินิจฉัยพบว่ามีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ที่มีทั้งรูปแบบยาเม็ด เจล แผ่นแปะผิวหนัง ตลอดจนการฝังหรือฉีด แต่การรักษานี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการแพทย์ เนื่องจากการให้ฮอร์โมนทดแทนจากเทสโทสเตอโรนสังเคราะห์อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ประสบปัญหาวัยทองผู้ชายได้ ดังนั้น หากต้องรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียและข้อควรระวังก่อนเสมอ หากสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นทั้งกับตนเองหรือคนใกล้ตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.pobpad.com/