ชีวิตวิถีใหม่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทุกคนในครอบครัวต้องคุยกัน ช่วยกันสร้างกติกาใหม่ของบ้าน เสริมพลังใจให้กัน ที่สำคัญคือ การสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีสุขอนามัยที่ดี
“ชีวิตวิถีใหม่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในครอบครัวเกิดความเครียดขึ้นแน่นอน เพราะต้องเปลี่ยนความเคยชินของตัวเอง คนที่ปรับตัวง่ายก็จะเครียดน้อย ครอบครัวที่มีทรัพยากรน้อยก็จะปรับตัวได้ยาก ความเครียดก็จะทวีคูณ ยิ่งถ้าไม่สบายด้วยโควิด-19 ก็จะเป็นการซ้ำเติมปัญหา แต่ในวิกฤตจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อม เตรียมตัวในการรับมือ
ดังนั้น ทุกคนในครอบครัวต้องคุยกัน ช่วยกันสร้างกติกาใหม่ของบ้าน เสริมพลังใจให้กัน ที่สำคัญคือ การสร้างสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะหากมีสุขภาพดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีสุขอนามัยที่ดี ก็จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้” น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าว
ชีวิตวิถีใหม่ (นิว นอร์มอล) ของครอบครัวไทย ในบริบทที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐฐานะ ถิ่นที่อยู่ และรูปแบบครอบครัว ดังนั้น การปรับตัวของแต่ละครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องมีความยืดหยุ่น หลากหลาย
น.ส.ณัฐยา กล่าวอธิบายต่อว่า สิ่งสำคัญประการแรกคือ การตั้งกติกาใหม่ร่วมกันเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิตให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ดังนี้ใหม่
1. ด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะครอบครัว 3 รุ่นที่มีผู้สูงอายุ และลูกหลานอยู่ร่วมกัน พ่อ แม่ต้องปลูกฝังให้ความรู้ ความเข้าใจ การดูแลปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ทั้งการล้างมือ กินอาหารร้อนสุกใหม่เสมอ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยหากไม่สบาย หรือสวมหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำหลังจากกลับมาจากข้างนอกทันที เป็นต้น
2. การใช้พื้นที่ในบ้าน ต้องคำนึงถึงการเว้นระยะห่าง แต่หากครอบครัวมีพื้นที่จำกัด การเว้นระยะห่าง หรือการที่ไม่ใกล้ชิดกันเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องมีวิธีจัดการเพื่อลดความแออัด เช่น การใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน
3. การทำงานและการเรียน ในช่วงโควิด-19 หลายหน่วยงานมีแนวทางให้ทำงานอยู่ที่บ้าน (เวิร์ก ฟรอม โฮม) มากขึ้น ขณะเดียวกันโรงเรียนเลื่อนการเปิดภาคเรียน และต้องจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้สมาชิกครอบครัวใช้พื้นที่ร่วมกันทั้งวัน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้ครอบครัวไทยปลอดภัยจากโควิด-19 มีสุขภาวะดี ผ่าน 2 แนวทาง คือ
1. การให้ข้อมูลความรู้ ผลิตสื่อที่เข้าถึง ได้ง่าย เช่น นิทาน สื่อออนไลน์ ทุกครอบครัวสามารถนำไปปรับใช้ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสอนหรือสร้างการเรียนรู้อยู่ที่บ้าน
2. ครอบครัวที่มีความเปราะบางสูง เนื่องจากตกงาน ขาดรายได้ สสส.ริเริ่มโครงการช่วยเหลือครอบครัวเปราะบางให้มีรายได้เพิ่ม โดยการอบรมพัฒนาทักษะ อาชีพใหม่ๆ การจับคู่งาน การสนับสนุนอาสาสมัครครอบครัวในชุมชน เป็นต้น
“ถึงเวลาเรียนรู้อยู่แบบ “นิว นอร์มอล” ให้มีความสุขกัน”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ข้อมูลจาก https://www.thaihealth.or.th