สุขภาพผู้สูงอายุโรคระบบประสาทและสมอง

อัลไซเมอร์

Views

อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) โรคที่เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบได้มากที่สุด ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ และการใช้ภาษา อาการของโรคจะเริ่มจากการหลงลืมที่ไม่รุนแรงจนแย่ลงเรื่อย ๆ ถึงขั้นไม่สามารถสนทนาโต้ตอบหรือมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างร้ายแรง โดยในปี 2558 สถิติผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในประเทศไทยมีทั้งหมดประมาณ 600,000 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ

อาการของอัลไซเมอร์

อาการเริ่มแรกของโรคอัลไซเมอร์อาจมีอาการหลงลืมหรือภาวะสับสนที่ค่อย ๆ พัฒนาไปอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาหลายปี ซึ่งบางครั้งมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นจนทำให้เกิดความสับสน และอาจเข้าใจผิดไปว่าเป็นเพียงอาการหลงลืมเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้อาการในผู้ป่วยแต่ละรายก็พัฒนาช้าเร็วแตกต่างกัน ทำให้สามารถคาดเดาได้ยากว่าอาการจะแย่ลงเมื่อใด

อาการของโรคอัลไซเมอร์โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะเริ่มต้น อาการในช่วงต้นของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แต่ละรายจะแตกต่างกันไป โดยสัญญาณแรกที่มักพบได้ก็คืออาการหลงลืมที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเผชิญกับสถานการณ์ต่อไปนี้

  • ลืมบทสนทนาหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น
  • วางของผิดที่ อาจไปวางในที่ที่ไม่น่าจะไปวางไว้
  • ลืมหรือนึกชื่อสถานที่ สิ่งของไม่ออก
  • ทำอะไรซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ เช่น ถามซ้ำคำถามเดิมหลายครั้ง
  • ต้องใช้เวลาในการทำกิจวัตรประจำวันนานขึ้นกว่าปกติ
  • ความสามารถในการตัดสินใจต่ำ การตัดสินใจกลายเป็นเรื่องยาก
  • ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้น้อยลง มีความลังเลที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น
  • อารมณ์แปรปรวนบ่อยครั้ง เช่น หงุดหงิด กระวนกระวาย วิตกกังวลกว่าปกติ หรือมีอาการสับสนเป็นช่วง ๆ

ระยะกลาง เมื่ออาการของโรคเริ่มพัฒนาถึงขั้นต่อมา ผู้ป่วยจะยิ่งมีปัญหาด้านความทรงจำ ผู้ป่วยมักต้องได้รับความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำแต่งตัว และการเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว โดยอาการที่แสดงเพิ่มขึ้นอาจมีดังนี้

  • การจำชื่อของคนรู้จักกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นทุกที พยายามนึกชื่อเพื่อนและครอบครัวแต่นึกไม่ออก
  • เกิดภาวะสับสนและสูญเสียการรับรู้ด้านสถานที่ เวลา และบุคคล เช่น หลงทาง หรือเดินไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่รู้วันเวลา
  • การทำกิจวัตรประจำวันที่มีหลายขั้นตอนกลายเป็นเรื่องยากขึ้น เช่น การแต่งตัว
  • มีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำอะไรซ้ำ ๆ หรือวู่วาม
  • ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีปัญหาในการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
  • มีอาการหลงผิด เชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงอย่างสนิทใจ รวมถึงอาจรู้สึกหวาดระแวงหรือสงสัยในตัวผู้ดูแลหรือครอบครัวของตนเอง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดหรือการใช้ภาษาสื่อสาร
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น อารมณ์ไม่คงที่ แปรปรวนบ่อยครั้ง มีภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล หงุดหงิด กระวนกระวายยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
  • ทำงานที่ต้องใช้การกะระยะได้ลำบาก
  • มีอาการประสาทหลอน

ระยะปลาย ระยะที่อาการของโรครุนแรงขึ้นอย่างมากจนนำความเศร้าเสียใจและวิตกกังวลมาให้บุคคลใกล้ชิด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการดูแลและให้ความช่วยเหลือตลอด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การเคลื่อนไหว หรือการเข้าห้องน้ำ

  • อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนที่เป็น ๆ หาย ๆ กลับยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ
  • ผู้ป่วยอาจอาละวาด เรียกร้องความสนใจ และไม่ไว้วางใจผู้คนรอบข้าง
  • กลืนและรับประทานอาหารลำบาก
  • เปลี่ยนท่าทางหรือเคลื่อนไหวตัวเองลำบาก ต้องได้รับการช่วยเหลือ
  • น้ำหนักลดลงมาก แม้จะรับประทานอาหารมากหรือพยายามเพิ่มน้ำหนักแล้วก็ตาม
  • มีอาการชัก
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
  • ค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการพูดลงไปทีละน้อยจนไม่สามารถสื่อสารได้
  • มีปัญหาด้านความทรงจำในระยะสั้นและระยะยาวอย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาการของโรคที่แย่ลงอย่างกะทันหัน อาจมีผลพวงมาจากการใช้ยา การติดเชื้อโรคหลอดเลือดในสมอง หรือภาวะสับสนเฉียบพลันที่เกิดแทรกขึ้นมาได้ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่สังเกตพบว่าอาการของตนแย่ลงอย่างรวดเร็วควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

ส่วนผู้ที่มีความกังวลว่าตนเองอาจมีปัญหาด้านความทรงจำหรือเป็นโรคสมองเสื่อม หรือสงสัยว่าคนรอบข้างมีอาการคล้ายข้างต้นก็ควรสนับสนุนให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเช่นกัน และถ้าเป็นไปได้ก็ควรเสนอตัวไปเป็นเพื่อนผู้ป่วยด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคสมองเสื่อมเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะซึมเศร้า ความเครียด ผลข้างเคียงจากยารักษาโรค หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งแพทย์จะสามารถช่วยตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นได้

สาเหตุของอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์เกิดจากการฝ่อตัวของสมองซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองบริเวณนั้น ๆ ส่วนสาเหตุที่สมองฝ่อตัวลงนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จากการสังเกตสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์พบว่ามีความผิดปกติที่คาดว่าจะเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงโรค คือมีการสะสมของอะไมลอยด์พลัค (Amyloid Plaques) ซึ่งเป็นสารโปรตีนผิดปกติชนิดหนึ่ง มีกลุ่มใยประสาทที่พันกัน (Neurofibrillary Tangles) และสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ในสมองที่ไม่สมดุลกัน นอกจากนี้ยังพบว่าเส้นเลือดในสมองของผู้ป่วยโรคนี้มักค่อย ๆ ถูกทำลายลง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพของเซลล์ประสาทลดลงและถูกทำลายทีละน้อย และเมื่อเวลาผ่านไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงแพร่กระจายไปสู่สมองหลาย ๆ ส่วน ซึ่งบริเวณที่จะได้รับผลกระทบเป็นส่วนแรกก็คือสมองที่ทำหน้าที่ด้านความทรงจำ

นอกจากสาเหตุที่คาดการณ์ข้างต้น ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ยังมีดังนี้

  • อายุ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาของโรค โดยโอกาสเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุก ๆ 5 ปี หลังจากที่อายุล่วงผ่าน 65 ปีไปแล้ว ทั้งนี้ก็ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะเกิดโรคนี้ได้ เพราะประมาณ 1 ใน 20 ของผู้ป่วยก็มีอายุไม่เกิน 65 ปี โดยเป็นโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็วที่พบได้ในผู้ที่อายุตั้งแต่ประมาณ 40 ปี
  • ประวัติของบุคคลในครอบครัว พันธุกรรมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ กระนั้นก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยแม้จะมีผู้ป่วยในครอบครัว แต่หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวหลายคนประสบกับโรค ควรต้องรับการปรึกษากับแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อโรคนี้เมื่ออายุมากขึ้น
  • กลุ่มอาการดาวน์ เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์สูง เนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการดาวน์นั้นสามารถทำให้เกิดการสะสมของอะไมลอยด์ขึ้นในสมองจนนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้ในบางราย
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงจะยิ่งเสี่ยงพัฒนาไปเป็นโรคอัลไซเมอร์ยิ่งขึ้น
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคนี้มีปัจจัยการเกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ทางที่ดีควรปรับเปลี่ยนด้วยการเลิกสูบบุหรี่ รับประทานอาหารมีประโยชน์ รักษาน้ำหนักให้ไม่มากเกิน ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง และตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคอัลไซเมอร์ไปในคราวเดียวกัน

การวินิจฉัยอัลไซเมอร์

ยังไม่มีการวินิจฉัยอัลไซเมอร์ที่ยืนยันผลการตรวจได้แน่ชัดในปัจจุบัน การวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุดจะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว โดยเป็นการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูการสะสมของสารอะไมลอยด์และกลุ่มใยประสาทที่พันกันในสมอง ซึ่งเป็นการตรวจที่อันตรายต่อผู้ป่วย จึงไม่นำมาใช้เมื่อมีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะใช้เครื่องมือและวิธีการตรวจที่หลากหลายเพื่อช่วยในการพิจารณาว่าปัญหาด้านความทรงจำของผู้ป่วยนั้นเป็นอาการชนิดที่ “อาจเป็นโรคอัลไซเมอร์” (Possible Alzheimer’s Disease) ได้ หรือ “น่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์” (Probable Alzheimer’s Disease)

สำหรับการตรวจเบื้องต้นจะพิจารณาจากอาการที่ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดแจ้งให้ทราบ และสอบถามครอบครัวหรือคนรอบข้างของผู้ป่วยเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวม ประวัติสุขภาพ ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วย รวมทั้งใช้การถามคำถามหรือทำแบบทดสอบความจำ การแก้ปัญหา การนับเลข หรือทักษะทางด้านภาษา เพื่อตรวจดูการทำงานของสมองในแต่ละส่วนและพิจารณาว่าควรรับการตรวจเพิ่มเติมหรือส่งให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตรวจรักษาต่อไปหรือไม่

ขั้นต่อไปอาจเป็นการวินิจฉัยเพื่อแยกโรคอื่นที่สามารถทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำได้เช่นกัน ซึ่งมักจะใช้วิธีต่อไปนี้

การตรวจร่างกายและประเมินระบบประสาท เป็นการตรวจสุขภาพทางระบบประสาทของผู้ป่วยด้วยแบบทดสอบที่หลากหลาย เช่น การทดสอบปฏิกิริยาโต้กลับ ความแข็งแรงและตึงตัวของกล้ามเนื้อ ความสามารถในการลุกจากเก้าอี้แล้วเดินไปยังอีกฝั่งของห้อง และตรวจดูประสาทสัมผัสทางการมองเห็นและการได้ยิน รวมถึงการประสานงานและความสมดุลของร่างกาย

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะใช้การตรวจเลือดเพื่อช่วยตรวจแยกโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการสูญเสียความทรงจำได้เช่นกัน เช่น โรคความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หรือโรคขาดวิตามินบางชนิด

การทดสอบสมรรถภาพทางจิตและการทำงานของสมอง เป็นการตรวจสภาวะทางจิตโดยรวมเพื่อประเมินทักษะด้านความทรงจำและความนึกคิด หลังจากนั้นแพทย์อาจเห็นควรให้มีการประเมินด้านนี้อย่างครอบคลุมเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจการทำงานของสมองอย่างละเอียดนี้อาจช่วยให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับระบบการทำงานทางด้านความคิดของผู้ป่วยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีอายุและระดับการศึกษาเดียวกันมากขึ้น

การถ่ายภาพสมอง การถ่ายภาพสมองจะถูกนำมาใช้ตรวจหาความผิดปกติใด ๆ ที่สามารถสังเกตเห็นได้และบ่งบอกว่าสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อัลไซเมอร์ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง เนื้องอก หรือการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะที่ล้วนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสมอง โดยเทคนิคการถ่ายภาพในสมองที่อาจนำมาใช้มีดังนี้

  • การตรวจเอมอาร์ไอสแกน (MRI Scan) ใช้แยกโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการผิดปกติทางความคิดความจำที่อาจเกิดขึ้น และยังอาจใช้วินิจฉัยดูการฝ่อตัวของสมองบริเวณที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคอัลไซเมอร์
  • การตรวจซีทีสแกน (CT Scan) ช่วยในการถ่ายภาพวิเคราะห์ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่งในสมอง และยังใช้เป็นวิธีหลักในการแยกโรคที่มีสาเหตุเกิดจากเนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดในสมอง และการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะออกไป
  • การตรวจเพทสแกน (PET) เป็นเครื่องช่วยตรวจการทำงานโดยรวมของสมองในหลาย ๆ บริเวณ โดยจะแสดงภาพสมองส่วนที่ทำงานไม่ปกติ

การตรวจน้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง วิธีตรวจในกรณีพิเศษจะนำมาใช้กับโรคสมองเสื่อมที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเกิดขึ้นในช่วงอายุน้อย โดยเก็บตัวอย่างทดสอบจากน้ำในไขสันหลังเพื่อหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ของการเกิดโรคอัลไซเมอร์

การรักษาอัลไซเมอร์

ปัจจุบันโรคอัลไซเมอร์ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการใช้ยารักษาและการจัดการดูแลที่จะช่วยบรรเทาอาการด้านความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยได้เพียงชั่วคราว หรืออาจช่วยให้พัฒนาการของโรคช้าลงได้ในบางราย โดยการดูแลรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่สามารถทำได้มีดังนี้

การวางแผนดูแลผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอัลไซเมอร์ควรได้รับการประเมินและการวางแผนล่วงหน้าสำหรับการดูแลด้านสุขภาพและด้านสังคมโดยแพทย์ร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยโรคนี้ได้รับการรักษาที่ตอบสนองต่อความต้องการ โดยจะมีการพูดคุยสอบถามถึงสิ่งที่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลอาจต้องการความช่วยเหลือ เช่น

  • การช่วยเหลือใดที่ตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องการเพื่อให้เกิดความสะดวกและเป็นอิสระเท่าที่จะทำได้
  • ควรมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับที่พักอาศัยเพื่อให้อยู่ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นหรือไม่
  • ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินหรือไม่

สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรมีการปรับสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตให้เอื้อต่อตัวผู้ป่วย รวมทั้งการสร้างนิสัยและกิจวัตรประจำวันที่ไม่จำเป็นต้องใช้การนึกหรือจำก็อาจทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ข้อปฏิบัติที่สามารถทำตามได้มีดังต่อไปนี้

  • เก็บกระเป๋าสตางค์ กุญแจ โทรศัพท์มือถือ และของมีค่าอื่น ๆ ไว้ในที่เดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญหายหรือหาไม่พบ
  • สอบถามกับแพทย์ถึงวิธีการรับประทานยาที่ง่ายขึ้น โดยอาจรวมให้เหลือเพียงวันละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา
  • จัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ให้จ่ายโดยระบบหักเงินอัตโนมัติ
  • พกโทรศัพท์ที่เปิดการระบุตำแหน่งจีพีเอส (GPS) ไว้ตลอดเวลา เผื่อในกรณีที่หลงทางหรือมีอาการสับสน เพื่อให้คนอื่น ๆ สามารถตามตำแหน่งที่อยู่ในโทรศัพท์มาได้ และควรบันทึกเบอร์โทรศัพท์และรายชื่อบุคคลสำคัญไว้ในที่ที่เห็นชัดเจนในโทรศัพท์ เพื่อผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องพยายามนึกชื่อของผู้ที่ต้องการโทร
  • การนัดหมายกับแพทย์ควรเป็นวันและเวลาที่ใกล้เคียงกับครั้งอื่น ๆ มากที่สุด
  • อาจมีปฏิทินหรือกระดานเขียนบันทึกกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวันติดบ้านไว้ และเมื่อทำกิจกรรมใด ๆ เรียบร้อยแล้วก็ให้ขีดฆ่าออกเพื่อไม่ให้เกิดการหลงลืม
  • ตั้งนาฬิกาปลุกเตือนเวลาที่ต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • กำจัดอุปกรณ์เครื่องเรือนที่ไม่จำเป็นออกจากบ้าน ไม่ให้ระเกะระกะและยุ่งเหยิง
  • ติดตั้งราวจับตามทางบันไดหรือในห้องน้ำ
  • ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช่น เครื่องตรวจแก๊สรั่ว และเครื่องตรวจจับควันให้ทั่วบ้าน
  • เลือกรองเท้าที่ใส่แล้วสบายและมีความพอดีกับเท้า ไม่หลุดง่าย
  • อย่าให้มีกระจกอยู่ในบ้านมากเกินไป ผู้ป่วยโรคนี้อาจรู้สึกว่าภาพสะท้อนในกระจกนั้นน่ากลัวและทำให้รู้สึกสับสนได้
  • เก็บรูปถ่ายและสิ่งของที่มีความหมายต่อผู้ป่วยไว้ทั่ว ๆ บ้าน
  • อาจบอกรับหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนวันและเวลา
  • เขียนบันทึกช่วยเตือนความจำแปะไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น บันทึกเตือนไม่ให้ลืมกุญแจเมื่อออกจากบ้าน

การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพและควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยอาจให้ผู้ป่วยเดินเป็นประจำทุก ๆ วันเพื่อปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อการทำงานของข้อต่อ กล้ามเนื้อ และหัวใจ นอกจากนี้ยังช่วยให้นอนหลับดีและป้องกันอาการท้องผูกได้ด้วย ทั้งนี้ควรมีผู้ดูแลเดินไปพร้อมกับผู้ป่วยและจับตาดูไม่ให้พลัดหลง ส่วนผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเดินอาจขี่จักรยานอยู่กับที่หรือออกกำลังกายโดยวิธีนั่งบนเก้าอี้แทน

การรับประทานอาหาร ผู้ป่วยโรคนี้อาจลืมรับประทานอาหาร หมดความสนใจในการรับประทานอาหาร เลือกรับประทานอาหารในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและมีอาการท้องผูกได้ จึงควรเสริมการรับประทานอาหารด้วยน้ำปั่นจากผลไม้ผสมนมหรือโยเกิร์ตที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีแคลอรีสูง และอาจเพิ่มผงโปรตีนผสมลงไป นอกจากนี้ผู้ดูแลยังควรโน้มน้าวให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหลาย ๆ แก้วต่อวัน แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะส่งผลให้รู้สึกกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และไปกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น

การใช้ยารักษา

แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการบางชนิดและชะลอการพัฒนาของโรค โดยยาที่มักนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระยะแรกไปถึงระยะที่อาการยังไม่รุนแรงคือยากลุ่มโคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase Inhibitor) เช่น โดนีพีซิล กาแลนตามีน และไรวาสติกมีน ทั้งนี้ยาในกลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพการรักษาไม่ต่างกัน เพียงแต่ผู้ป่วยบางรายอาจตอบสนองกับยาชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่าหรือได้รับผลข้างเคียงจากยาน้อยกว่าชนิดอื่น ๆ และหากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยากลุ่มนี้ได้ก็อาจให้ยาเมแมนทีนแทน ซึ่งยาตัวหลังนี้สามารถใช้รักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะท้ายได้เช่นกัน

ยาทางเลือก

ปัจจุบันมีอาหารเสริมและวิตามินหลากหลายชนิดที่มีการโฆษณาอย่างกว้างขวางถึงสรรพคุณในการช่วยส่งเสริมด้านความคิดและความทรงจำ ป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัดว่าสารอาหารเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งล่าสุดก็มีการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาทางเลือกเหล่านี้

  • กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นสารอาหารที่พบในปลา อาจช่วยป้องกันการเสื่อมถอยทางสติปัญญา ทว่าการวิจัยเกี่ยวกับอาหารเสริมที่ทำจากไขมันปลา ไม่พบคุณประโยชน์ด้านนี้แต่อย่างใด
  • เคอร์คูมิน สมุนไพรที่ทำมาจากขมิ้น มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและมีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจส่งผลดีต่อกระบวนการของสารสื่อประสาทในสมอง แต่การวิจัยก็พบว่าสารนี้ไม่ได้มีประโยชน์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์เช่นเดียวกัน
  • แปะก๊วย พืชที่ประกอบด้วยสารหลากหลายชนิด โดยการวิจัยครั้งสำคัญของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) ผลปรากฏว่าแปะก๊วยไม่สามารถป้องกันหรือชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้
  • วิตามินอี พบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ แต่การรับประทานวิตามินอีวันละ 2,000 หน่วยอาจช่วยชะลอการพัฒนาของโรคในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีเพียงผลการศึกษาบางส่วนที่พบว่าวิตามินอีมีประโยชน์จริง นอกจากนี้ การรับประทานวิตามินอีวันละ 2,000 หน่วยก็ยังต้องมีการพิสูจน์เพิ่มเติมถึงความปลอดภัยหากนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ก่อนที่จะมีการแนะนำให้นำมาใช้อย่างแพร่หลาย

การบำบัดทางจิต

นอกจากการใช้ยา การบำบัดโดยนักจิตวิทยา เช่น การกระตุ้นสมอง ก็อาจช่วยปรับปรุงความสามารถด้านความทรงจำ ความสามารถทางภาษา และทักษะการแก้ปัญหาได้ รวมทั้งการบำบัดทางจิตวิทยาด้านอื่น ๆ เช่น การบำบัดด้วยการปรับปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด และการบำบัดด้วยการผ่อนคลาย ที่อาจนำมาใช้ช่วยรับมือกับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล การเกิดภาพหลอน อาการหลงผิด และพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้

ภาวะแทรกซ้อนของอัลไซเมอร์

การสูญเสียความทรงจำหรือทักษะด้านภาษา การตัดสินใจที่บกพร่องและความสามารถทางสติปัญญาด้านต่าง ๆ ที่ลดลงไปของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นในกรณีที่มีการรักษาอาการเจ็บป่วยชนิดอื่น เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้อาจไม่สามารถอธิบายถึงอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับตัวเอง รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งหรือทำตามแผนการรักษาไม่ได้ หรือไม่อาจสังเกตหรืออธิบายผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่เกิดขึ้นกับตนเองให้ผู้อื่นฟังได้

สำหรับโรคอัลไซเมอร์ที่พัฒนาไปถึงระยะสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงทางสมองที่เกิดขึ้นจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย เช่น การกลืน การทรงตัว การควบคุมลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น

  • สะดุดหกล้ม
  • กระดูกหัก
  • แผลกดทับ
  • ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะขาดน้ำ
  • สำลักอาหารหรือน้ำลงปอด ปอดบวมหรือเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์

เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม ยังพอมีหนทางที่อาจช่วยชะลอการเริ่มต้นของโรค คือการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดตามมา โดยควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • เลิกสูบบุหรี่  
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ โดยเลือกรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที อาจเฉลี่ยเป็นวันละ 30 นาที ใน 5 วันต่อสัปดาห์ ควรเลือกการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ให้ร่างกายได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ซ้ำๆ เช่น ปั่นจักรยาน วิ่งเร็ว จะช่วยให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจดีขึ้น
  • ตรวจและควบคุมระดับความดันโลหิต
  • หากป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมการรับประทานอาหารและการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากการลดปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง อีกวิธีป้องกันที่อาจได้ผลก็คือการฝึกการทำงานของสมอง โดยมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่าผู้ที่ฝึกตนเองให้มีความกระฉับกระเฉงด้านร่างกาย ความคิด และทักษะทางสังคมเป็นประจำและสม่ำเสมอ หรือผู้ที่มีกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่หลากหลาย อาจมีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมน้อยลง โดยกิจกรรมที่น่าจะมีส่วนช่วย ได้แก่ การอ่านหนังสือ การเขียนเพื่อสุนทรียภาพของตนเอง การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ การเล่นดนตรี เล่นเทนนิส ตีกอล์ฟ ว่ายน้ำ การเล่นกีฬาเป็นทีม และการเดิน

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.pobpad.com/

Leave a Reply