- ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า นับตั้งแต่ปี 2025 ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนทั่วโลกอาจพุ่งสูงเกิน 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (39.8 ล้านล้านบาท) เว้นเสียแต่จะมีการควบคุมยับยั้งสถานการณ์
- ตามประมาณการตัวเลขของสหพันธ์โรคอ้วนโลก (WOF) ในอีก 8 ปีข้างหน้าจะมีคนน้ำหนักเกินมาตรฐานรวม 2,700 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
- รายงานสุขภาพคนไทย 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า และหากเทียบในอาเซียน ประชากรที่เป็นโรคอ้วนของไทยรั้งอันดับ 2 รองจากมาเลเซียเท่านั้น
อันตรายใกล้ตัวอย่างโรคอ้วนอาจรุนแรงต่อโลกกว่าที่ตระหนักกัน หลังผู้เชี่ยวชาญคาดว่านับตั้งแต่ปี 2025 ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนทั่วโลกอาจพุ่งสูงเกิน 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (39.8 ล้านล้านบาท) เว้นเสียแต่จะมีการควบคุมยับยั้งสถานการณ์
ตามประมาณการตัวเลขของสหพันธ์โรคอ้วนโลก (WOF) ในอีก 8 ปีข้างหน้าจะมีคนน้ำหนักเกินมาตรฐานรวม 2,700 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หนำซ้ำหลายคนอาจต้องเข้ารับการรักษาตัวจากปัญหาโรครุมเร้า
ตามข้อมูลที่ระบุไว้ สหรัฐอเมริกาจะต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาอาการป่วยจากโรคอ้วนในช่วงเวลา 8 ปีต่อจากนี้ 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ, เยอรมนีจ่าย 390,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสหราชอาณาจักร 237,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
การสูบบุหรี่และโรคอ้วนถือเป็นเพชฌฆาตในโลกยุคใหม่ เนื่องจากส่งผลต่อโรคต่างๆ หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก และเบาหวาน
จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า และหากเทียบในอาเซียน ประชากรที่เป็นโรคอ้วนของไทยรั้งอันดับ 2 รองจากมาเลเซียเท่านั้น
ศาสตราจารย์ เอียน เคเทอร์สัน ประธานสหพันธ์โรคอ้วนโลก เปิดเผยว่า “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีคนเป็นโรคอ้วนมากขึ้น และคาดว่าในปี 2025 จะมีผู้ใหญ่ประมาณ 177 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาโรคอ้วนอย่างรุนแรง เรื่องนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลจำเป็นต้องลงมือในทันทีเพื่อลดภาระทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ขณะเดียวกัน ทิม ล็อบสไตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายประจำสหพันธ์โรคอ้วนโลก มองว่าคนอ้วนจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ทั้งในระดับรัฐ ปัจเจกและระบบประกันภัยที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
การใช้งบประมาณเพื่อควบคุมและยับยั้งโรคอ้วนให้มากขึ้นจะช่วยประหยัดเงินให้ประเทศในระยะยาวได้หลายล้านเหรียญสหรัฐ โดยมาตรการหนึ่งที่ผู้บริหาร WOF อย่างโยฮันนา ราลส์ตัน แนะนำคือมาตรการภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ซึ่งไทยเพิ่งมีการปรับใช้ภาษีความหวานไปเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
Photo: Thiencharas.w
อ้างอิง: