นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี อันตรายกว่าที่คุณคิด

Views

โรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่สามารถเกิดขึ้นได้และมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยพบได้ตั้งแต่อายุ 30 – 50 ปี ความน่าสนใจของโรคนี้คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารจึงหายามารับประทานเอง จนกระทั่งอาการรุนแรงจึงมารับการรักษา เพราะฉะนั้นการรู้ทันโรคนิ่วในถุงน้ำดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

หน้าที่ของถุงน้ำดี

ถุงน้ำดี (Gallbladder) คือ อวัยวะบริเวณช่องท้องที่ทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำดี ทำให้น้ำดีเข้มข้นเพื่อพร้อมสำหรับย่อยไขมัน 

รู้จักโรคนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี ทำให้เกิดนิ่ว โดยลักษณะนิ่วมี 3 ประเภท ได้แก่

  1. นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) อาจเป็นสีเหลือง ขาว เขียวเกิดจากการตกตะกอนไขมัน เนื่องจากคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี 
  2. นิ่วจากเม็ดสี (Pigment Stones) อาจเป็นสีคล้ำดำ เกิดจากความผิดปกติของเลือด โลหิตจาง ตับแข็ง 
  3. นิ่วโคลน (Mixed Gallstones) เป็นคล้ายโคลน เหนียว หนืด เกิดจากการติดเชื้อใกล้ตับ ท่อน้ำดี ตับอ่อน

อาการบอกโรค

  • นิ่วในถุงน้ำดีอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรือมีบางอาการ แต่ไม่ครบทุกอาการดังต่อไปนี้ 
  • ท้องอืด
  • แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังทานอาหารไขมันสูง เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
  • ปวดใต้ลิ้นปี่/ชายโครงด้านขวา 
  • ปวดร้าวที่ไหล่/หลังขวา 
  • คลื่นไส้อาเจียน (ถุงน้ำดีติดเชื้อ) 
  • มีไข้หนาวสั่น 
  • ดีซ่าน/ตัว-ตาเหลือง  (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
  • ปัสสาวะสีเข้ม  (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
  • อุจจาระสีขาว (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)

ทั้งนี้ก้อนนิ่วที่ตกตะกอนอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ จำนวนมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนไปจนถึงหลายร้อยก้อนได้ หากมีขนาดใหญ่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้

กลุ่มเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี

  • เพศหญิง 40 ปีขึ้นไป 
  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ภาวะอ้วน น้ำหนักมาก 
  • คอเลสเตอรอลสูง
  • โรคเบาหวาน 
  • โรคเลือด โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
  • ตั้งครรภ์หลายครั้ง
  • กินยาคุมกำเนิด
  • ทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่อดอาหาร (ถือศีลอด) หรือลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
  • ทานยาลดไขมันในเลือดบางชนิด
  • พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัว

ตรวจวินิจฉัย

การตรวจที่ดีที่สุดคือการพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยการทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน จะทำให้เห็นรายละเอียดของก้อนนิ่วในถุงน้ำดีได้ชัดเจน 

นิ่ว, นิ่วในถุงน้ำดี, ไส้เลื่อน, ไส้เลื่อนหน้าท้อง, ไส้เลื่อนขาหนีบ, ไส้ติ่ง, ไส้ติ่งอักเสบ, กรดไหลย้อน, แผลในกระเพาะอาหาร, ลำไส้อักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, ตับอักเสบ, กระเปาะลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ, โรคทางนรีเวช

วิธีการรักษา

การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการจากนิ่วในถุงน้ำดี หากสามารถทำการผ่าตัดได้ แนะนำให้ผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำดีออกทุกราย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องที่มักใช้รักษาผู้ป่วยในกรณีที่มีการอักเสบมากและแตกทะลุในช่องท้องจำเป็นต้องพักฟื้นค่อนข้างนาน และการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ที่แพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ จากนั้นใส่กล้องเข้าไปเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนทุกมิติ ก่อนจะตัดขั้วและเลาะถุงน้ำดีให้หลุดออก วิธีนี้นอกจากช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน แผลยังมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ลดโอกาสการติดเชื้อ ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ไม่ต้องพักฟื้นนาน ซึ่งควรผ่าตัดรักษาภายใน 72 ชั่วโมง และหลังจากผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการย่อยอาหาร เพราะถุงน้ำดีเป็นเพียงที่เก็บพักน้ำดี แต่ควรลดของมัน เน้นทานผักและปลามากขึ้น เพื่อให้ห่างไกลจากอาการท้องอืดและมีสุขภาพดีในระยะยาว

นิ่วในถุงน้ำดีโรคใกล้ตัวผู้หญิงวัย 40+

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงวัย 40 ปี นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงขึ้น ดังนั้นถ้าหากมีไขมันในเลือดสูง ทานยาคุมกำเนิดหรือทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน มีบุตรหลายคน เป็นโรคเบาหวาน โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีทั้งสิ้น ดังนั้นหากสงสัยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอัลตราซาวนด์โดยเร็วที่สุด

การป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดีสามารถทำได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เลี่ยงของมัน ของทอด ของหวาน ระวังไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน ที่สำคัญตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติในลักษณะที่ชวนสงสัยรีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจรุนแรงถึงขั้นถุงน้ำดีเน่า ถุงน้ำดีแตกจนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้ในอนาคต

ขอขอบคุณ:bangkokhospital.com

Leave a Reply