การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรตไตอาจมีภาวะเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ของโรคไตมาแนะนำคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ โดยไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคไตมาก่อนหรือยังไม่ทันได้ตรวจสุขภาพ พร้อมทั้งวิธีดูแลตัวเองเป็นพิเศษเมื่อเป็นโรคไตขณะตั้งครรภ์ อ่านวิธีสังเกตอาการจากนิตยสาร รักลูก ที่เรานำมาฝากกันเลยค่ะ
“โรคไต” อาจกำเริบขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคไตมาก่อน คุณแม่ตั้งครรภ์จึงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างเข้มงวด และแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย
ตั้งครรภ์ เสี่ยงโรคไตกำเริบ
โรคไตใคร ๆ ก็กลัว เพราะเป็นแล้วทรมานไม่น้อย โรคไตมีหลายแบบค่ะ ทั้งเกิดจากความผิดปกติของไตแต่กำเนิด ติดเชื้อกรวยไตอักเสบ นิ่วในไตหรือท่อไต และรุนแรงจนไตวายได้
โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีประวัติเคยเป็นโรคไตมาก่อน หรือมาเป็นช่วงกำลังตั้งครรภ์ รวมทั้งการตั้งครรภ์เองก็อาจส่งผลให้โรคไตกำเริบได้ ดังนั้นก่อนตั้งครรภ์จึงต้องรักษาอาการของโรคให้ดีก่อน และทำความรู้จักโรคไตให้มากขึ้น เพื่อวางแผนการมีลูกให้ปลอดภัยค่ะ
“ไต” ทำงานเปลี่ยนไป เมื่อตั้งครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นไปกดทับไต ทำให้ท่อไตขยาย หรืออุดตันได้ ซึ่งส่งผลให้ระบบทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ แม้จะเริ่มตั้งครรภ์อ่อน ๆ แต่ขนาดของมดลูกก็ยืดขยายไปกดทับกระเพาะปัสสาวะได้ ทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อย แล้วถ้าไปกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ อาจจะทำให้ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะได้นั่นเอง
อาการน่าสงสัยของโรคไต
1. ไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลังหรือเอว ปัสสาวะแสบขัด อาจเกิดจากติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะจนเกิดกรวยไตอักเสบ
2. ปัสสาวะเป็นเลือด อาจเห็นด้วยตาเปล่าขณะปัสสาวะว่าเป็นสีเลือด หรือมีลิ่มเลือดปนในปัสสาวะ หรือปัสสาวะดูใสดีแต่ปัสสาวะแสบขัด และผลตรวจปัสสาวะพบมีเม็ดเลือดแดงปน ซึ่งอาจเกิดจากเป็นโรคไต หรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือเป็นนิ่วในไตก็ได้
3. ปัสสาวะเป็นสีแดงจาง ๆ เหมือนสีชาเข้ม มีอาการเป็นระยะเวลานาน แม้ดื่มน้ำมากก็ยังมีสีแบบนี้ แสดงว่าอาจเกิดจากได้รับยาบางชนิด หรือมีปัญหาที่ไต
4. ปัสสาวะแล้วมีฟองขาว ๆ ออกมาทุกครั้ง เพราะในปัสสาวะมีโปรตีนผสมออกมามาก ซึ่งมักพบในคนที่เป็นโรคไต
5. ตรวจเลือดแล้วพบผลการทำงานของไตผิดปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของไตผิดปกติ
คุณแม่ที่วางแผนจะมีลูก หรือเคยเป็นโรคไต จึงควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการน่าสงสัยดังกล่าวหรือไม่ เพื่อจะได้รักษาและดูแลตัวเองให้ปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ
อาการโรคไตขณะตั้งครรภ์
มีโปรตีนในปัสสาวะ หรือปัสสาวะปนเลือด
เมื่อตรวจพบปัสสาวะปนเลือด โดยไม่พบว่ามีการติดเชื้อ หรือร่วมกับมีโปรตีนในปัสสาวะ อาจเป็นอาการของโรคไตได้ เช่น การอักเสบจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคเนโฟรติก ซึ่งอายุรแพทย์ต้องดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์ เพราะหากไม่ได้รับการดูแลรักษาให้โรคสงบก่อนการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้โรคไตกำเริบจนร้ายแรงในขณะตั้งครรภ์ได้ ทำให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
ดังนั้น ถ้าคุณแม่เป็นโรคไต แพทย์ต้องตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด โดยตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อประเมินน้ำหนัก และการเจริญเติบโต รวมถึงเลือดที่ไปเลี้ยงทารกในครรภ์ด้วย รวมทั้งต้องเฝ้าระวังการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด คอยประเมินการหดรัดตัวของมดลูก และตรวจการเต้นของหัวใจของทารกเป็นระยะ ๆ
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะโดยไม่มีอาการ พบได้ร้อยละ 2-7 ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งพบบ่อยขึ้นในอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้ามีการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ สามารถกินยาปฏิชีวนะที่ปลอดภัยสำหรับแม่ตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้าอาการหนักถึงกับติดเชื้อจนกรวยไตอักเสบ จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลและรับยาปฏิชีวนะชนิดฉีด จนกว่าอาการและผลตรวจเลือดจะดีขึ้น
หากได้รับการรักษาทัน จะลดโอกาสการเกิดผลแทรกซ้อนต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น การแท้งบุตร การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
เป็นโรคไตตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
โรคไตชนิดไม่รุนแรง และผลตรวจการทำงานของไตมีระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่ผิดปกติมากก็จะตั้งครรภ์ต่อไปได้ โดยอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์และอายุรแพทย์โรคไตอย่างใกล้ชิด เพราะสูติแพทย์ต้องคอยระวังเรื่องการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดโดยประเมินจากการหดรัดตัวของมดลูก หรือการเจริญเติบโตของทารกว่าช้ากว่าปกติหรือไม่ และต้องระวังครรภ์เป็นพิษ และต้องตรวจติดตามการเจริญเติบโของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิดโดยอัลตราซาวด์ เพื่อประเมินน้ำหนัก การเจริญเติบโต เลือดที่ไปเลี้ยงทารกในครรภ์ และตรวจการเดินของหัวใจของทารกเป็นระยะ ๆ
เป็นโรคไตชนิดรุนแรง หรือต้องมีการล้างไตมาก่อนหน้านี้คุณแม่กลุ่มนี้มักมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากอยู่แล้ว แต่หากตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 50 จะมีโอกาสเกิดการแท้งบุตร ทารกเสียชีวิตในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด หรือครรภ์เป็นพิษ จึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
ในกรณีที่การตั้งครรภ์ในขณะที่โรคยังไม่สงบ หรือคุณแม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคไต หรือมีอาการน่าสงสัย ก่อนตั้งครรภ์จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของอายุรแพทย์โรคไตอย่างเข้มงวด และคุมกำเนิดก่อนจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้ตั้งครรภ์ได้ เพราะหากเกิดการตั้งครรภ์ในสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมแล้วจะเกิดผลเสียต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก