สุขภาพคุณแม่และหญิงตั้งครรภ์

6 โรคหน้าร้อน ที่คนท้องต้องระวัง เสี่ยงทั้งคุณแม่และลูกน้อย

Views

เมื่อต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัด แม้แต่คนทั่วไปก็ยังมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคหน้าร้อนต่าง ๆ ได้ หากไม่ใส่ใจดูแลตัวเองเท่าที่ควร โดยเฉพาะโรคฮีตสโตรกที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ยิ่งหากเป็นคนท้องด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องระมัดระวังสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะโรคบางอย่างนั้นอาจส่งผลรุนแรงต่อร่างกายของคุณแม่ ตลอดจนทารกน้อยในครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ ๆ เลยล่ะค่ะ และเพื่อให้คุณแม่ทั้งหลายได้รู้จักป้องกันและระวังโรคที่จะมากับหน้าร้อน กระปุกดอทคอมจึงมีข้อมูลมาฝากกันค่ะ

โรคหน้าร้อน ที่คนท้องต้องระวัง

1. คนท้องร้อนกว่าคนปกติ

          รู้ไหมคะว่าคนท้องจะร้อนกว่าคนปกติ เนื่องจากภาวะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ ทั้งต่อมไทรอยด์ที่ทำงานเพิ่มขึ้น ร่างกายต้องเผาผลาญพลังงานมากขึ้น อีกทั้งภายในร่างกายของคนท้องจะมีปริมาณเลือดที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว ร่างกายของผู้หญิงตั้งครรภ์จึงเกิดความร้อนมากกว่าปกติ

อาการ

          ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก หงุดหงิด อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบายตัว เมื่อประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูร้อน จึงเป็นปัจจัยให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่ และอาจมีผลกระทบถึงลูกน้อยได้

วิธีป้องกัน

          – อยู่ในที่ร่ม ไม่ออกไปเผชิญกับแดดจ้า อากาศร้อน เป็นเวลานาน ๆ

          – สวมใสเสื้อที่มีเนื้อผ้าบางเบา ซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี ไม่ใส่แบบรัดรูป

          – หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารประเภทที่มีเกลือมากเกินไป เพราะเกลือจะทำให้อุณหูมิของร่างกายคุณแม่สูงขึ้นกว่าเดิม

          – รับประทานผักและผลไม้ หรือเครื่องดื่มเย็น ๆ เพื่อดับร้อน

2. โรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด

          โรคฮีตสโตรก เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส รวมถึงการขาดน้ำและเกลือแร่ร่วมด้วยเป็นเวลานาน ซึ่งช่วงฤดูร้อน หญิงตั้งครรภ์อาจเกิดโรคฮีตสโตรกได้ง่ายกว่าคนปกติ

อาการ

          ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก ต่างจากการเพลียแดดทั่วไปที่จะพบมีเหงื่อออกด้วย กระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด หายใจเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาการจะหนักขึ้น จนชัก ไตล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก และเกิดลิ่มเลือดอุดตันจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          หากเริ่มมีอาการ ให้รีบเข้าร่มโดยเร็ว ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ก่อนนำส่งสถานพยาบาล

วิธีป้องกัน

          – หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท ร้อนอบอ้าว

          – สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ดูดซับเหงื่อได้ดี

          – หากต้องออกไปนอกบ้าน ควรมีหมวกหรือร่มกันแดด

          – หากต้องเดินทางไกลควรมีผู้ใกล้ชิดร่วมดูแลไปด้วย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุเมื่อมีอาการวิงเวียน หน้ามืด หรือเป็นลม

          – ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน หากต้องอยู่ในที่ที่อากาศร้อนเป็นเวลานานควรจิบน้ำบ่อย ๆ แม้ว่าจะไม่รู้สึกกระหายก็ตาม

โรคหน้าร้อน

3. ภาวะร่างกายขาดน้ำ

          ภาวะร่างกายขาดน้ำมักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับโรคลมแดด เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจะขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติ ทำให้ปริมาณของเหลวในร่างกายลดลง เลือดจึงมีความเข้มข้นมากขึ้น ภาวะนี้อาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้

อาการ

          เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นลม มีภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation) หรือหายใจติดขัด เป็นตะคริว ปริมาณของเหลวที่ออกจากร่างกาย เช่น เหงื่อ และปัสสาวะลดลง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นโดยไม่มีสัญญาณของอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ

          หากมีอาการผิดปกติ ให้รับมือเช่นเดียวกับโรคลมแดด แต่ควรดื่มน้ำหรืออมน้ำแข็งเพื่อเพิ่มของเหลวในร่างกายด้วย แต่ถ้าอาการยังคงอยู่ หรือมีอาการกล้ามเนื้อช่องท้องหดรัดตัวหรือเป็นตะคริวมากกว่า 5-6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง มีเลือดออกทางช่องคลอด มีอาการบวมตามใบหน้าและมือ ควรรีบไปพบแพทย์

วิธีการป้องกัน

          – หลีกเลี่ยงการออกแดดจ้าหรืออยู่ในที่ที่อากาศร้อน

          – พักผ่อนให้เพียงพอ

          – ลดปริมาณคาเฟอีน งดดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม

          – ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน

          – กินผัก ผลไม้ ที่มีส่วนประกอบของน้ำสูงและอุดมไปด้วยวิตามิน เช่น แตงกวา คะน้า มะเขือเทศ แตงโม มะละกอ ฝรั่ง สะระแหน่

4. ไข้หวัด

          ไข้หวัดอาจดูเป็นโรคทั่วไปที่ใคร ๆ ก็เป็น แต่ถ้าเป็นหวัดในช่วงตั้งครรภ์ คุณอาจหายช้ากว่าคนทั่วไปเล็กน้อย เพราะระบบภูมิต้านทานในร่างกายของว่าที่คุณแม่จะลดลง ถึงแม้เชื้อหวัดจะไม่สามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปจนเกิดการติดเชื้อถึงทารก แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากติดเชื้อหวัดชนิดรุนแรง อาจกระตุ้นให้เกิดการแท้งในช่วง 3 เดือนแรก หรือเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดในช่วง 3 เดือนท้ายได้

อาการ

          ไอ จาม มีน้ำมูก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อทารก เพียงแต่เวลาที่คุณแม่ไอแรง ๆ ความดันในท้องจะเพิ่มขึ้น อาจไปกดเบียดมดลูกที่ขยายใหญ่เต็มพื้นที่ ทำให้มดลูกบีบตัว จนเหมือนท้องตึงขึ้นมานิด ๆ แต่ถ้ามีอาการไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากไข้สูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสอาจทำให้เกิดความพิการในทารก

วิธีการป้องกัน

          – หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนแออัด ระบายอากาศไม่ดี เพราะหากในบริเวณนั้นมีคนเป็นหวัด เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ หากจำเป็นต้องอยู่ในที่ที่มีคนมาก ควรใส่หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก

          – พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลร่างกายไม่อยู่ในอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป

          – กินผักและผลไม้เป็นประจำเพื่อเพิ่มวิตามินซี

          – ถ้ามีอาการไอ สามารถกินยาแก้ไอที่มีส่วนผสมเป็นยาละลายเสมหะได้ แต่ควรระวังยาแก้ไอซึ่งมีฤทธิ์เป็นยากดไอ เพราะอาจมีสารโคเดอีนซึ่งเป็นอันตราย

          – ถ้ามีอาการไข้ ให้เช็ดตัวและดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ สามารถกินยาแก้ไขพาราเซตามอลได้ แต่ไม่ควรกินยาในกลุ่มยาแก้แพ้และยาแก้อักเสบประเภทแอสไพริน ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรซื้อยากินเอง

โรคหน้าร้อน

5. อาหารเป็นพิษ

          อากาศร้อน ๆ ช่างเป็นใจให้แบคทีเรียและเชื้อโรคทำงาน อาหารจึงบูดเสียง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ได้เก็บแช่ไว้ในตู้เย็น อาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ โดยไม่ได้อุ่นให้ร้อนอยู่เสมอ อาหารที่เตรียมขึ้นอย่างไม่สะอาด อาหารปรุงไม่สุก เมื่อคุณแม่รับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้

อาการ

          ถ่ายเป็นน้ำ คลื่นไส้อาเจียน มีไข้หนาวสั่น หรือมีอาการปวดบริเวณลำตัวร่วมด้วย ปกติแล้วอาการต่าง ๆ จะหายเองภายใน 3 วันโดยไม่ต้องรักษา แต่อย่านิ่งนอนใจ เพราะหากมีอาการรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อกได้

วิธีป้องกัน

          – กินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรค

          – ล้างผักผลไม้หลายๆ ครั้ง รวมถึงล้างภาชนะใส่อาหารและช้อนส้อมให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้

          – ล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ

6. โรคเครียดจากอากาศร้อนจัด

          อากาศที่ร้อนจัดในระยะนี้ บางวันมีอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้คนท้องที่มักจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายอยู่แล้ว ยิ่งหงุดหงิดมากขึ้นและเครียด ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกในครรภ์ ทำให้เด็กตัวเล็ก และมีอาการดิ้นมากขึ้น

          จากการศึกษาวิจัยของ National Institute of Health พบว่าการสัมผัสอากาศร้อนจัดทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น 6% เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ และความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 21% ในสัปดาห์ที่ 36-38 ของการตั้งครรภ์ นักวิจัยยังเชื่อว่า ภาวะเครียดจากอากาศที่ร้อนจัดอาจขัดขวางการพัฒนาของรกหรือเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือดไปยังมดลูก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้อาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้

อาการ

          เครียด หงุดหงิดมากขึ้น เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร

วิธีป้องกัน

          – ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

          – สวมใส่เสื้อผ้าให้พอเหมาะกับสภาพครรภ์ เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย

          – ทำตัวเองให้สดชื่น ด้วยการอาบน้ำคลายร้อน หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง

โรคหน้าร้อน

          เห็นไหมคะว่าโรคหน้าร้อนเหล่านี้น่ากลัวกว่าที่คิด แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะหากเรารู้ทันโรคและปฏิบัติตัวตามวิธีป้องกัน ทำจิตใจให้แจ่มใส หากิจกรรมคลายร้อน ก็จะช่วยให้ผ่านพ้นหน้าร้อนนี้ไปได้ด้วยความแข็งแรงทั้งคุณแม่และคุณลูกค่ะ

ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, amarinbabyandkids.com, rakluke.com, konthong.com, National Institute of Health

Leave a Reply