มะเร็งสมอง (Brain Cancer) คือโรคที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายบริเวณสมอง และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเกิดขึ้นเองที่เนื้อเยื่อสมอง หรือจากการลุกลามของมะเร็งจากอวัยวะอื่น มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น การสัมผัสสารเคมี การสูบบุหรี่ หรือประวัติการเกิดโรคมะเร็งของสมาชิกในครอบครัว ส่งผลต่อร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดศีรษะ เป็นลม คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาด้านการทรงตัว ความคิด สติปัญญา ความทรงจำ การพูด การมองเห็น บุคลิกภาพ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
อาการของมะเร็งสมอง
อาการของโรคมะเร็งสมองจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่พบของเนื้องอก โดยอาการที่พบอาจมีสาเหตุหรือเป็นผลข้างเคียงมาจากความผิดปกติอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งสมองก็ได้ ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไปหากเป็นเพียงอาการเบื้องต้นหรืออาการที่ไม่รุนแรง แต่ก็สามารถไปพบแพทย์ได้หากมีข้อสงสัย โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เป็นโรคมะเร็งสมองอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ โดยจะมีอาการรุนแรงในตอนเช้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เป็นลมหมดสติ
- ซึม
- ชัก
- อ่อนแรงและชาบริเวณแขนและขา
- กล้ามเนื้อกระตุก
- มีปัญหาการทรงตัว หรือเดินลำบาก
- มีปัญหาทางความคิด สติปัญญา อารมณ์ หรือสูญเสียความทรงจำ
- มีปัญหาในการพูด
- มีปัญหาในการมองเห็น
- มีปัญหาบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
หรือหากพบอาการร่วมด้วยดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- อาเจียนบ่อยและไม่สามารถอธิบายสาเหตุของการอาเจียนนั้นได้
- มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด โดยเฉพาะที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง
- ง่วงซึม หรือง่วงนอนอย่างผิดปกติ
- ปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
สาเหตุของมะเร็งสมอง
มะเร็งสมองเป็นเนื้องอกอันตรายที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์ในลักษณะที่ผิดปกติ หรือที่เรียกว่า เซลล์มะเร็ง โดยอาศัยเลือดและสารอาหารจากร่างกายไปหล่อเลี้ยง อาจเกิดขึ้นที่บริเวณสมอง หรือเกิดจากมะเร็งที่ลุกลามหรือกระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด เต้านม ไต ลำไส้ใหญ่ หรือผิวหนัง เนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็งจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สามารถแพร่กระจายและทำลายเนื้อเยื่อดีในบริเวณรอบข้าง มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกถึงแม้เคยผ่านการรักษามาแล้ว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่ามะเร็งสมองเกิดจากสาเหตุใด มีเพียงปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองได้ เช่น
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- พฤติกรรมการสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน
- มีประวัติการเกิดโรคมะเร็งสมองกับสมาชิกในครอบครัว
- เป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่สามารถแพร่กระจายมายังสมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
- การสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมี รวมไปถึงยากำจัดศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
- การทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น พลาสติก ตะกั่ว ยาง น้ำมัน รวมถึงสิ่งทอบางชนิด
การวินิจฉัยมะเร็งสมอง
สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งสมองได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัยดังต่อไปนี้
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท (Neurological Examination) เพื่อหาผลกระทบของเนื้อร้ายที่มีต่อสมอง
- การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยการเก็บตัวอย่างของเหลวบริเวณรอบ ๆ สมองและไขสันหลัง เพื่อตรวจเซลล์มะเร็ง
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (PET Scan) เพื่อหาตำแหน่งของเนื้อร้าย
- การตัดชิ้นเนื้อตรวจ (Biopsy) สามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธีคือ การผ่าตัดเปิดกระโหลกเพื่อกำจัดเนื้อร้ายในสมอง และการผ่าตัดด้วยระบบนำวิถี (Stereotaxis) ทำได้โดยการหาตำแหน่งที่ชัดเจน จากนั้นทำการเจาะรูเล็กที่กระโหลกแล้วใช้เข็มสอดเข้าไปเก็บตัวอย่างเนื้องอก แล้วส่งให้นักพยาธิวิทยาตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งต่อไป
การรักษามะเร็งสมอง
ในการรักษาโรคมะเร็งสมอง จำเป็นต้องใช้ทีมแพทย์ที่ประกอบด้วยหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ เช่น นักประสาทวิทยา ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาที่มากกว่าหนึ่งวิธี ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และตำแหน่งของเนื้อร้าย รวมไปถึงอายุและปัญหาหรือเงื่อนไขทางการแพทย์อื่น ๆ ของผู้ป่วย แพทย์อาจให้สเตียรอยด์เช่น เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เพื่อลดอาการบวมของสมอง หรือให้ยากันชักในผู้ป่วยบางราย รวมไปถึงวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งสมองดังต่อไปนี้
- การผ่าตัด เพื่อทำการกำจัดเนื้องอกที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็ง
- การรักษาด้วยรังสี (Radiation Therapy) คือการฉายแสงที่มีพลังงานสูงเพื่อทำลาย ลดการขยายตัวและหยุดการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย ใช้ในผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ เช่น เนื้อร้ายอยู่ในตำแหน่งที่บอบบางและยากต่อการผ่าตัด หรือใช้หลังการผ่าตัดที่ยังคงหลงเหลือเซลล์มะเร็งอยู่ การรักษาด้วยรังสีสามารถทำได้ด้วยกันหลายวิธี เช่น
- External Radiation คือการฉายรังสีที่มีพลังงานสูงผ่านชั้นผิวหนัง กระโหลก เซลล์สมอง ไปยังตำแหน่งของเนื้อร้าย โดยจะทำประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ใช้เวลาไม่นานต่อหนึ่งครั้ง
- Stereotactic Radiosurgery คือการทำลายเนื้อร้ายโดยการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงจากหลายทิศทางด้วยความแม่นยำ โดยทำหลังจากมีการระบุตำแหน่งที่ชัดเจน ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่า
- การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่เรียกว่าการทำคีโม คือการใช้ยา อาจเป็นยา 1 ชนิดหรือรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในการรักษา สามารถให้ได้ทั้งทางเส้นเลือดหรือรับประทาน จะใช้ยาเป็นรอบ ๆ โดยจะเว้นระยะให้ผู้ป่วยได้พักฟื้น และดูการตอบสนองต่อการรักษา การทำเคมีบำบัดสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นแผลในปาก เบื่ออาหาร ผมร่วง เป็นต้น
สมองอาจได้รับผลกระทบหรือเกิดความเสียหายจากเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูร่างกายหลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งสมอง สามารถทำได้โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- การฟื้นฟูสมรรถภาพหรือการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าสมองถูกทำลายจากเซลล์มะเร็ง ทำให้ส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพูด การเดิน หรือการปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูเพื่อสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
- การฟื้นฟูโดยการรักษาแบบทางเลือก เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ หรือการรับประทานอาหารเสริม เพื่อชดเชยสารอาหารที่สูญเสียไปในระหว่างการรักษา รวมไปถึงการฝังเข็ม หรือการใช้สมุนไพร ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์สำหรับทางเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุดในผู้ป่วยแต่ละราย
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งสมอง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งสมองสามารถเกิดขึ้นได้และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ รวมถึงผลข้างเคียงจากการรักษาบางชนิด ได้แก่
- เนื้องอกมีเลือดออกเฉียบพลัน
- เกิดการอุดตันของน้ำในไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง อาจทำให้เสียชีวิตได้
- ความดันในกระโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นกะทันหันจากการเคลื่อนของสมอง อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต
การป้องกันมะเร็งสมอง
ในปัจจุบัน การแพทย์ยังไม่สามารถหาวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งสมอง แต่สามารถปฏิบัติตัวตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองได้ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น ยาฆ่าแมลง สารเคมี สารกัมมันตภาพรังสี รวมถึงลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เป็นต้น