โรคมะเร็ง ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของไทยและทั่วโลก อาการของโรคมะเร็งและผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง อาจส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันได้ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานประจำ การทำงานบ้าน การทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ รวมไปถึงเรื่องบนเตียงหรือชีวิตเซ็กส์ ผู้ป่วยบางคนที่อาจไม่แน่ใจว่า เป็นมะเร็งมีเซ็กส์ได้ไหม หรือมีเซ็กส์แล้วจะส่งผลกระทบกับการรักษาหรือเปล่า Hello คุณหมอ จะไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และโรคมะเร็งให้คุณเอง
มะเร็งกับเพศสัมพันธ์ และผลกระทบที่ควรรู้
ผลกระทบของมะเร็งกับเพศสัมพันธ์นั้นอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยเพศหญิงส่วนใหญ่อาจมีความกังวลเรื่องรูปลักษณ์ มีความต้องการทางเพศลดลง รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเซ็กส์ ไปไม่ถึงจุดสุดยอด หรือรู้สึกไม่สุขสม
ส่วนผู้ป่วยเพศชายก็อาจไม่ค่อยมีความต้องการทางเพศ มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว อวัยวะเพศแข็งตัวได้ไม่นาน เจ็บปวดขณะมีเซ็กส์ ไปไม่ถึงจุดสุดยอด หรือมีปัญหาในการหลั่ง เช่น หลั่งเร็ว
เพศสัมพันธ์ และการแสดงออกซึ่งความรัก ไม่ว่าจะเป็นการจับมือ กอด จูบ และมีเซ็กส์ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชายหญิงส่วนใหญ่ ฉะนั้นหากพบว่าอาการของมะเร็ง หรือผลข้างเคียงจากการรักษาก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทางเพศที่กล่าวมาข้างต้นหรือปัญหาอื่นๆ ในขณะป่วยเป็นมะเร็งหรือรักษามะเร็ง คุณควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที อย่ามัวแต่อาย เพราะคุณหมอจะได้แนะนำวิธีแก้ไขที่ถูกต้องให้ เพื่อความสัมพันธ์ของคุณและคู่รักจะได้ราบรื่น เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
เป็นมะเร็งมีเซ็กส์ได้ไหม ?
หลายคนอาจยังสงสัยว่า แล้วป่วยเป็นมะเร็งมีเซ็กส์ได้ไหม หรือถ้ารักษามะเร็งอยู่จะส่งผลกระทบอะไรหรือเปล่า…
คำตอบที่เหมาะสมสำหรับคุณ อาจต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้… หากกำลังเป็นมะเร็งอยู่ และต้องดูแลตัวเอง
โดยปกติแล้ว คุณสามารถทำกิจกรรมทางเพศในช่วงรักษามะเร็งได้ ตราบใดที่คุณมีความต้องการทางเพศ มีพลังงาน และสะดวกพอ แต่หากการผ่าตัดรักษามะเร็ง การทำเคมีบำบัด หรือการฉายแสงทำให้คุณรู้สึกไม่อยากมีเซ็กส์ คุณอาจต้องแสดงความรักด้วยวิธีการอื่นแทน เช่น การกอด การจูบ การจับมือ หากผ่าตัดรักษามะเร็งในบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งลำไส้ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งรังไข่ คุณอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นนานขึ้น ก่อนจะกลับมาทำกิจกรรมทางเพศที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะนั้นๆได้อีกครั้ง หรือหากคุณรักษามะเร็งช่องปาก อาจต้องระวังเป็นพิเศษหากจะทำออรัลเซ็กส์ หากคุณมีเกล็ดเลือดต่ำ หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ คุณอาจต้องงดกิจกรรมทางเพศที่เกี่ยวข้องกับการสอดใส่ทั้งทางอวัยวะเพศและทางทวารหนัก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือเลือดออกผิดปกติได้ หากคุณรักษามะเร็งด้วยการฝังแร่กัมมันตรังสี หรือที่เรียกว่า การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสทางร่างกาย เพราะอาจทำให้รังสีแพร่กระจายไปสู่อีกฝ่ายได้ คุณหมออาจให้คุณใช้ถุงยางอนามัยหรือเครื่องป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ ในช่วงสองสามวันหลังเข้ารับการทำเคมีบำบัด เพราะสารเคมีอาจตกค้างอยู่ในน้ำอสุจิหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดได้
หากคุณมีข้อสงสัย ควรสอบถามคุณหมอให้แน่ชัด เช่น เมื่อไหร่ที่ควรหรือไม่ควรมีเซ็กส์ และคุณจะสามารถป้องกันตัวเองและคู่รักของคุณได้อย่างไรบ้าง
แล้วท้องตอนรักษามะเร็ง จะเป็นอะไรหรือเปล่า ?
คุณไม่ควรตั้งครรภ์ หรือทำให้คู่รักตั้งครรภ์ในขณะที่กำลังรักษามะเร็ง เพราะการรักษาอาจทำให้ทารกในครรภ์เป็นอันตราย เช่น สารเคมีบางชนิดที่ใช้ในการทำเคมีบำบัด อาจตกค้างอยู่ในน้ำอสุจิได้ หากไม่แน่ใจว่าจะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีใดถึงจะเหมาะสม ก็สามารถปรึกษาคุณหมอได้
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่วางแผนมีลูกในอนาคต คุณควรแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนเริ่มทำการรักษา คุณหมอจะได้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับคุณ เพราะการรักษามะเร็งบางวิธี อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์หรือการมีลูกได้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์… สิ่งสำคัญที่ยิ่งต้องระวัง
โรคมะเร็งและการรักษามะเร็ง สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคุณอ่อนแอลง และเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น เช่น โรคเริม โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคหนองในแท้ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงถือเป็นสิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าคุณจะมีคู่รักทีละคนหรือมีความสัมพันธ์กับหลายๆ คนในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ควรต้องป้องกันทั้งสิ้น
ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการออรัลเซ็กส์ การสอดใส่ทางอวัยวะเพศหญิง การสอดใส่ทางทวารหนัก คุณควรป้องกันด้วยถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย เป็นต้น หากคุณสงสัยว่าตัวเองติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรพบคุณหมอทันที เพื่อการตรวจรักษาและดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
ทำอย่างไรให้เซ็กส์ไปรอด ?
โรคมะเร็งและผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง เช่น เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ผมร่วง แผลเป็น อาการไวต่อรสและกลิ่น อาจทำให้การมีเซ็กส์เป็นเรื่องยาก
คุณและคู่รักอาจต้องมุ่งเน้นที่การแสดงความรักต่อกันด้วยวิธีอื่นๆ แทนการมีเซ็กส์ เช่น
ใช้เวลาทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกัน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง นวดให้กัน จับมือกันบ่อย ๆ จูบหรือหอมแก้มกันให้มากขึ้น พูดคุยกันให้มากกว่าเดิม กอดกันบ่อยๆ สัมผัสร่างกายกันให้มากขึ้น
หากคุณรู้สึกไม่อยากมีเซ็กส์ คู่รักของคุณอาจช่วยกระตุ้นอารมณ์ ให้คุณอยากทำกิจกรรมทางเพศแบบอื่นแทนได้ สิ่งสำคัญ คือ ทั้งคุณและคนรักต้องคุยกันให้เข้าใจ บอกให้เขารู้ว่าคุณกังวลเรื่องอะไร และกิจกรรมไหนที่จะทำให้คุณพอใจกันทั้งสองฝ่าย ถือว่าเป็นการเปิดใจคุยกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของคุณทั้งคู่
อาการที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องรีบไปพบคุณหมอ รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น หรือมีอาการเจ็บปวดใหม่ ๆ เกิดขึ้น เลือดออกผิดปกติ สมรรถภาพทางเพศ หรือปริมาณน้ำอสุจิเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
หากคุณรู้สึกว่าปัญหาทางเพศ เริ่มกระทบต่อความสัมพันธ์ สุขภาพกายใจ และส่งผลกระทบต่อการรักษา ก็ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน เพื่อขอคำแนะนำและการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมในระยะยาว
ขอบคุณข้อมูลจาก : sanook.com