มะเร็งหลังโพรงจมูก

มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบที่ต้องระวัง

Views

โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharynx cancer) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน รวมถึงประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทยด้วย โดยโรคนี้มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอายุ 2 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงอายุ 15-25 ปี และ 50-60 ปี

มะเร็งหลังโพรงจมูก สาเหตุคืออะไร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมีหลายอย่าง เช่น

  1. พันธุกรรม เนื่องจากโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมีความชุกสูงเฉพาะในเขตภูมิศาสตร์ เช่น ประเทศจีนตอนใต้ และพื้นที่ที่มีชาวจีนอพยพไปอยู่ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ทำให้มีการสันนิษฐานว่า พันธุกรรมอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกได้
  2. อาหารการกิน สารก่อมะเร็งไนโตรซามีน (Nitrosamine) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยหากสูดดมสารนี้เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุหลังโพรงจมูก อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ของเซลล์เยื่อบุผิว จนเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ได้ ซึ่งเราจะพบสารก่อมะเร็งชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหมักดอง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม แหนม ไส้กรอกอีสาน หรือแม้แต่อาหารปิ้งย่าง
  3. เชื้อไวรัส จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะมีสารภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus – EBV) ในปริมาณที่สูงกว่าประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดี จึงสันนิษฐานว่าเชื้อไวรัสตัวนี้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกด้วย
  4. สิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ควันไฟจากการเผาไม้ หญ้า สารเคมีต่างๆ รวมไปถึงควันบุหรี่ อาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกได้เช่นกัน
  5. สุขภาพช่องปากที่ไม่ดี และภาวะอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก สุขอนามัยทางช่องปากที่ไม่ดี รวมไปถึงการอักเสบเรื้อรังของโพรงที่อยู่หลังจมูก ก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกได้

ผู้ที่เป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก จะมีอาการอย่างไร

อาการแสดงของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

  1. อาการทางจมูก มีอาการระคายเคืองหลังโพรงจมูก มีน้ำมูกปนเลือด มีเลือดออกทางจมูกบ่อยๆ แน่นจมูก หายใจไม่ค่อยสะดวก หรือคัดจมูก มีน้ำมูกไหลลงคอเรื้อรัง หรือเสียงเปลี่ยนไป ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยหลายรายต้องเข้ารับการรักษาแบบเดียวกับโรคโพรงจมูกอักเสบ หรือไซนัสอักเสบเรื้อรังมาก่อน
  2. อาการทางหู การได้ยินบกพร่อง มีเสียงดังในหู รู้สึกปวดหู หรือมีของเหลวไหลออกจากหู อันเนื่องมาจากการทำงานผิดปกติของท่อเชื่อมหูชั้นกลาง เพราะการลุกลามของมะเร็ง เป็นผลให้ความกดอากาศในหูชั้นกลางลดลง ก่อให้เกิดอาการหูอื้อ และอาการนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
  3. ก้อนที่คอ เป็นอาการที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดของโรคนี้ โดยเฉพาะอาการของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกระยะที่ลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ซึ่งจะตรวจพบก้อนที่คอเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนแบบติดกัน-ห่างกันก็ได้ ทว่ากรณีที่พบบ่อยมักจะเจอก้อนที่คอเพียงก้อนเดียว มีลักษณะแข็ง ไม่เจ็บ และเคลื่อนไหวไปมาได้
  4. อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ชาที่ใบหน้า เจ็บเสียวที่แก้มข้างเดียวกับตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง และในรายที่อาการลุกลามมาก ผู้ป่วยอาจเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อใบหน้า เวียนศีรษะ เสียงแหบ กลืนลำบาก หรือสำลักอาหาร รวมทั้งมีการรับกลิ่นและรสที่เปลี่ยนไป
  5. อาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ และอาจมีอาการอ้าปากไม่ขึ้น สำลักน้ำขึ้นจมูก เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ตำแหน่งอื่น

หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคลำเจอก้อนที่คอ ร่วมกับรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ก็ควรรีบเข้าไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจและวินิจฉัยโรค ทั้งนี้ เพื่อการรักษาที่รวดเร็วในกรณีที่มีเซลล์มะเร็งซ่อนตัวอยู่

มะเร็งหลังโพรงจมูก รักษาหายไหม

โรคมะเร็งหลังโพรงจมูกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในกรณีที่ตรวจพบรอยโรคในระยะเริ่มแรก นั่นหมายความว่า ยิ่งรู้ตัวว่าป่วยเร็วเท่าไร โอกาสในการรักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกให้หายขาดก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งแนวทางการรักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมีดังนี้

  1. การฉายรังสี เนื่องจากบริเวณหลังโพรงจมูกเป็นตำแหน่งที่ยากต่อการผ่าตัด ดังนั้น การรักษาหลักๆ จึงเป็นการฉายรังสี โดยการฉายรังสีเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ระยะที่ 1 พบผลการรักษาที่น่าพอใจ เพราะช่วยควบคุมโรคเฉพาะที่ได้กว่า 90% นั่นหมายความว่ามีโอกาสตัดเซลล์มะเร็งทิ้งไปได้เกือบทั้งหมด
  2. การฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกในระยะที่ 2 ขึ้นไป แพทย์อาจต้องใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีควบคู่กันเพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น
  3. การผ่าตัด ในกรณีที่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูกได้แล้ว แต่ยังคงมีก้อนที่คออยู่ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีมะเร็งเกิดซ้ำหรือหลงเหลือเซลล์มะเร็งในบริเวณที่จำกัด กรณีแบบนี้จะสามารถทำการผ่าตัดรักษาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงการวินิจฉัยและการพิจารณาแนวทางการรักษาจากแพทย์ด้วย

ที่มา: พญ.พิชชาพร ธนาพงศธรโสต ศอ นาสิกแพทย์ แผนก หู คอ จมูกโรงพยาบาลพญาไท 1

Leave a Reply