กรดยูริกในเลือดที่สูง นอกจากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคเกาต์,โรคนิ่ว และโรคไตอักเสบแล้ว อาจมีผลต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาหูอื้อ เสียงดังในหู และบ้านหมุนได้ โดยจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เลือดไปเลี้ยงประสาทหูและอวัยวะทรงตัวได้น้อย จึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวได้
กรดยูริกในร่างกาย เกิดจากการสร้างขึ้นในร่างกาย ประมาณร้อยละ 80 และมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ร้อยละ 20 กรดยูริกนี้จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ประมาณร้อยละ 67 และทางอุจจาระประมาณร้อยละ 33 การที่มีกรดยูริกในเลือดสูง เกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารที่มีสาร “พิวรีน”สูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ
‘กรดยูริก’ คืออะไร ?
‘กรดยูริก’ เป็นสารที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา โดยสามารถสร้างขึ้นได้เองถึง 80% ส่วนอีก 20% นั้นจะนำเข้ามาจากการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยสารพิวรีน ซึ่งสารพิวรีนจะสามารถพบได้ในอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง
หากร่างกายมี ‘กรดยูริก’ มากเกินไปจะส่งผลอย่างไร ?
โดยปกติแล้ว ในร่างกายของเราจะขับส่วนที่เกินของกรดยูริกออกผ่านทางปัสสาวะ แต่ภายในร่างกายของบางคนจะไม่สามารถขับกรดยูริกออกไปได้หมด ทำให้เกิดการสะสมภายในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณกระดูก ผนังหลอดเลือด และไต (ไต เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ฟอกเลือด + ขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ) ฉะนั้น เมื่อร่างกายขับกรดยูริกออกมาได้ไม่หมดก็จะทำให้เกิดเป็นตะกอน เกิดการสะสม เมื่อนานเข้าอาจทำให้เกิดโรคเกาต์ได้
ดังนั้นผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ ควรงดอาหารที่มีสารพิวรีนสูง (ข้อ 1) และลดปริมาณอาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง (ข้อ 2)
1) อาหารที่ควรงด(มีพิวรีนสูง) ได้แก่
– เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ,ตับอ่อน,ไส้,ม้าม,หัวใจ,สมอง,กึ๋น,เซ่งจี๊
– น้ำเกรวี, กะปิ, ยีสต์
– ปลาดุก, กุ้ง, หอย, ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน
– ปลาซาร์ดีน, ไข่ปลา
– ชะอม, กระถิน, เห็ด
– ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ
– สัตว์ปีก เช่น เป็ด, ไก่, ห่าน
– น้ำสกัดเนื้อ, ซุปก้อน
2) อาหารที่ควรลด (มีพิวรีนปานกลาง) ได้แก่
– เนื้อสัตว์ เช่น หมู, วัว
– ปลาทุกชนิด(ยกเว้น ปลาดุก, ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน, ปลาซาร์ดีน)และอาหาร
ทะเล เช่น ปลาหมึก, ปู
– ถั่วลิสง, ถั่วลันเตา
– ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้, หน่อไม้ฝรั่ง, ดอกกะหล่ำ, ผักโขม,สะตอ,ใบขี้เหล็ก
– ข้าวโอ๊ต
– เบียร์ เหล้าชนิดต่าง ๆ เหล้าองุ่น ไวน์(ทำให้การขับถ่ายกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว)
3) อาหารที่รับประทานได้ตามปกติ (มีพิวรีนน้อย) ได้แก่
– ข้าวชนิดต่าง ๆ ยกเว้น ข้าวโอ๊ต
– ถั่วงอก, คะน้า
– ผลไม้ชนิดต่างๆ
– ไข่
– นมสด, เนย และเนยเทียม
– ขนมปัง ขนมหวาน หรือน้ำตาล
– ไขมันจากพืช และสัตว์
ขอบคุณข้อมูลจาก : Sanook.com