โรคไข้เลือดออก

หยุดยุงลาย พาหะนำ 3 โรคร้าย โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย(ชิคุนกุนยา) และโรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา

Views

ยุงลาย

Aedes หรือยุงลาย เป็นสกุลของยุงที่เดิมพบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน แต่ปัจจุบันพบได้ทุกทวีปยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุทำให้ยุงลายบางสปีชีส์แพร่กระจาย Meigen อธิบายและตั้งชื่อเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1818 ยุงในสกุลนี้มีกว่า 700 สปีชีส์ ยุงลายบางสปีชีส์ส่งผ่านโรคร้ายแรง รวมถึงไข้เด็งกีและไข้เหลือง

บทบาทในการก่อโรค

ยุงลายเป็นพาหะที่ทราบของโรคติดเชื้อไวรัสหลายชนิด สองสปีชีส์ที่โดดเด่นที่สุดที่ส่งผ่านไวรัส คือ Aedes aegypti และ Aedes albopictus ซึ่งส่งผ่านไวรัสที่ก่อโรคไข้เด็งกี ไข้เหลือง ไข้ไนล์ตะวันตก ชิคุนกุนยา และสมองอักเสบม้าตะวันออก เป็นต้น การติดเชื้อไวรัสเหล่านี้มักมีอาการไข้ และสมองอักเสบในบางกรณีซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เหลือง และมาตรการเพื่อป้องกันยุงกัดรวมถึง ยาฆ่าแมลง เครื่องดักยุง สารขับไล่แมลงและมุ้ง

สถานที่เพาะพันธ์ยุงลาย

ยุงลายจะวางไข่ในภาชนะที่มีขอบ มีผนัง เนื่องจากแม่ยุงลายเวลาวางไข่ต้องมีผนังไว้เดินไต่ และวางไข่เหนือผิวน้ำประมาณ 1 เซนติเมตร ยุงลายจึงไข่เหนือน้ำ ไม่ได้ไข่ในน้ำเหมือนยุงชนิดอื่น ห้วยหนองที่มีน้ำขังตามธรรมชาติจึงไม่ใช่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยุงลายจะวางไข่ในน้ำใส น้ำนิ่ง หากมีถังน้ำที่ไม่มีฝาปิด ให้ใช้วิธีเปิดน้ำให้หยดติ๋งๆ ตลอดเวลา น้ำจะกระเพื่อม ทำให้ยุงลายไม่มาวางไข่ ส่วนลูกน้ำที่พบในน้ำเน่า ในคู ที่เรามักตักมาเลี้ยงปลากัดนั้น ส่วนใหญ่เป็นลูกน้ำยุงรำคาญ ไม่ใช่ลูกน้ำยุงลาย

ยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะที่มีสีมืดเข้มหรือที่มีรูพรุน ผิวขรุขระ จึงควรเลือกภาชนะเก็บน้ำที่มีสีอ่อนๆ ในห้องน้ำควรใช้ถังพลาสติกเก็บน้ำแทนที่เก็บน้ำแบบซีเมนต์ หากระดับน้ำในภาชนะเหลือน้อย ส่วนใหญ่ไม่ถึงศอกและมีเงามืด ยุงลายจะชอบ สังเกตได้ว่าหากน้ำลึกเกิน 1 เมตรจะมียุงวางไข่น้อยมาก ยิ่งถ้าใส่น้ำให้เต็มปริ่มขอบก็จะไม่มียุงมาวางไข่เลย แม่ยุงลายเวลาไข่สุกจะหนักท้อง จึงชอบวางไข่ในที่ต่ำๆ มืดๆ หลักการควบคุมลูกน้ำยุงลายคือ จะทำอย่างไรให้มีน้ำขังน้อยที่สุด เช่น หากน้ำที่บ้านไหลสม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องเก็บน้ำ เก็บสิ่งของเหลือใช้ที่อยู่บริเวณบ้าน ก็จะไม่มีที่ให้น้ำขัง ลดภาชนะที่ไม่จำเป็นภายในบ้าน เช่น แจกันหรือที่ใส่น้ำเลี้ยงพลูด่าง จานรองกระถางต้นไม้ที่วางอยู่นอกบ้าน ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น

ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ในบ้าน มีเหยื่อให้ดูดเลือดอยู่แล้ว และยังมีที่ให้วางไข่ ที่ให้เกาะพักอีกด้วย จึงไม่จำเป็นจะต้องบินไปหากินไกลๆยุงลายชอบเกาะพักในที่มืด อับชื้น และมักจะกลัวแดดกลัวลม จะไม่บินไปวางไข่หรือกัดคนกลางแจ้งเด็ดขาด ภาชนะที่วางกลางแดด กลางแจ้งจะไม่เป็นที่วางไข่ของยุงลาย การจัดบ้านให้สว่าง โล่ง โปร่ง ลมพัดดี ก็จะทำให้ยุงลายไม่มากัดคนในบ้าน

ปิดท้ายด้วยวงจรชีวิตของยุงลายที่ฟังแล้วจะต้องทึ่ง ไข่ยุงลายที่แห้งอยู่นานเป็นปี เมื่อนำมาแช่น้ำเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็จะฟักตัวเป็นลูกน้ำทันที จากลูกน้ำกลายเป็นตัวโม่ง จากตัวโม่งกลายเป็นยุง ใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน ก่อนที่ลูกน้ำจะกลายเป็นยุง ยุงลายตัวผู้มีอายุประมาณ 7 วัน เกิดมาเพื่อผสมพันธุ์เท่านั้น ส่วนตัวเมียมีอายุประมาณ 45 วัน วางไข่ทุก 3-4 วัน ซึ่งก่อนวางไข่จะต้องดูดเลือดก่อน ยุงลายวางไข่ครั้งละประมาณ 80 -100 ฟอง ดังนั้นตลอดอายุขัยของยุงลายตัวเมียจะวางไข่ได้ประมาณ 1,000 กว่าฟอง การกำจัดยุงลายตอนเป็นลูกน้ำ จึงดีที่สุดและง่ายที่สุด คุ้มค่ากว่าการใช้สารเคมีพ่นตัวยุง ที่ทำได้ยากกว่ามาก เพราะเมื่อยุงได้กลิ่นก็จะบินหนี ไม่อยู่ให้ถูกฆ่า ถูกกำจัด

3 โรคร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ

โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก คือ โรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันทีโรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สถิติในปี พ.ศ. 2554 รายงานโดย กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีอัตราป่วย 107.02 และอัตราป่วยตาย 0.10 ซึ่งหมายความว่า ในประชากรทุก 100,000 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 107.02 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 0.1 คน

การติดต่อโรคไข้เลือดออก

ไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก สามารถมีชีวิตรอดและเพิ่มจำนวนภายในตัวของยุงลาย ยุงลายจึงเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และกล่าวได้ว่าโรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน ยุงลายที่เป็นพาหะนี้มีชื่อว่า Aedes aegypti ยุงชนิดนี้ออกหากินเวลากลางวัน ยุงจะกัดและดูดเลือดที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่จากผู้ที่กำลังป่วยเป็นไข้เลือดออก เมื่อยุงลายไปกัดคนใหม่ ก็จะถ่ายทอดเชื้อให้กับคนที่ถูกยุงกัดต่อไป ยุงชนิดนี้อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ประเทศไทยจึงเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีการระบาดของโรคนี้ค่อนข้างสูง โดยพบการระบาดมากที่สุดในฤดูฝน ช่วงอายุของคนที่พบว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือ คนอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี และ อายุ 5-9 ปี ตามลำดับ ส่วนช่วงอายุ 0-4 ปี และมากกว่า 25 ปี จนถึง 65 ปี เป็นช่วงอายุที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนน้อยที่สุด

อาการโรคไข้เลือดออก

อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด กล่าวคือ มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ ไข้จะสูงกว่ามาก โดยอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีหน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัด (Touniquet test) จะพบจุดเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจพบอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ โดยอาการนำของภาวะช็อกมักเริ่มจากการมีไข้ลดลง ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงตามด้วยอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มักพบว่า มีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยการพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในฤดูฝนอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการรักษา

การรักษาโรคไข้เลือดออก

เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นสำคัญ กล่าวคือมีการใช้ยาลดไข้ เช็ดตัว และการป้องกันภาวะช็อก

ยาลดไข้ที่ใช้มีเพียงชนิดเดียว คือ ยาพาราเซตามอล (paracetamol) ขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่คือ พาราเซตามอลชนิดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด (4 กรัม) ส่วนขนาดยาที่ใช้ในเด็กคือ พาราเซตามอลชนิดน้ำ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ครั้ง หรือ 2.6 กรัม ยาพาราเซตามอลนี้เป็นยารับประทานตามอาการ ดังนั้น หากไม่มีไข้ก็สามารถหยุดยาได้ทันที
การป้องกัน

แม้ว่าในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ดังนั้นคำตอบที่ดีที่สุดของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันนี้ คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการควบคุมยุงลายให้มีจำนวนลดลงซึ่งทำได้โดยการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายและการกำจัดยุงลายทั้งลูกน้ำและตัวเต็มวัย และป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)

โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้เดงกี แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae มียุงลาย Aedes aegypti, Ae. albopictus เป็นพาหะนำโรค

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบได้ในทุกอายุ รวมทั้งทารกในครรภ์เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสนี้ (พบได้น้อย) ไปจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

โรคไข้ปวดข้อยุงลายเกิดได้อย่างไร

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดต่อ โดยยุงลายกัด และดูดเลือดคนที่เป็นโรค ในช่วงที่มีเชื้ออยู่ในเลือด คือ ช่วงมีไข้ เมื่อไวรัสเข้าสู่ยุง ไวรัสจะเจริญแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงกัดคน ไวรัสจากยุงจะเข้าสู่กระแสเลือดคน ก่อการติดโรค วนเวียนเป็นวงจรของการติดต่อ และของการระบาด

โรคไข้ปวดข้อยุงลายมีอาการอย่างไร

อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นอาการเฉียบพลัน เกิดภายหลังได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ประมาณ 1-12 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ส่วนใหญ่ประมาณ 2-5 วัน โดยมีอาการหลัก คือ

  • มีไข้ ไข้สูงทันที (อุณหภูมิมักสูงถึง 40 องศาเซลเซียส) แต่บางคนอาจมีไข้ต่ำได้
  • ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อมาก ทยอยปวดทีละข้อ ซึ่งปวดได้หลายข้อ มักเป็นกับข้อเล็กๆ เกิดทั้งข้อด้านซ้ายและด้านขวา
  • มีผื่นแดงคล้ายไข้เลือดออกขึ้นในบริเวณลำตัว แต่บางครั้งอาจพบที่แขน ขา ได้ด้วย
  • ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแดง ตากลัวแสง (เห้นแสงสว่างแล้วน้ำตาไหล) แต่ไม่มาก และอ่อนเพลีย

โดยทั่วไป จะมีไข้อยู่ประมาณ 2 วัน แล้วไข้ลงทันที แต่อาการอื่นๆจะคงอยู่ต่ออีกประ มาณ 5-7 วัน โดยเฉพาะอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือน หรือ บางคนเป็นปี หรือ หลาย ๆ ปี

ป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลายอย่างไร

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา) ดังนั้น วิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การป้องกันยุงกัด และการกำจัดยุง

  • การป้องกันยุงกัด เช่น ในถิ่นระบาด ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว การทายากันยุง ใช้ยาไล่ยุง ใช้มุ้งกับเด็กๆที่นอนในบ้านถึงแม้เป็นช่วงกลางวัน
  • การกำจัดยุง ต้องร่วมมือกันทั้งในครอบครัวและในแหล่งชุมชน และต้องปฏิบัติสม่ำ เสมอตลอดไป โดยเพิ่มความเข้มในช่วงหน้าฝน และหลังฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงยุงวางไข่ ด้วยวิธี การตามคำแนะนำของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และของกระ ทรวงสาธารณสุข เช่น กำจัด หรือ คว่ำภาชนะทุกชนิดที่ก่อให้เกิดน้ำขัง ทั้งในบ้าน นอกบ้าน และในชุมชน การเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้/กระถาง ทุก 7 วันเพื่อกำจัดลูกน้ำ ไม่รดน้ำต้นไม้มากจนก่อให้เกิดน้ำขัง จัดสวน หรือ ปลูกต้นไม้ให้โปร่ง แสงแดดส่องถึง และการกักเก็บน้ำบริโภคต้องปิดฝามิดชิด ป้องกันยุงวางไข่ เป็นต้น

โรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus Disease)

โรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกาคืออะไร

ไวรัสซิกา หรือไข้ซิกา เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลเฟลวิไวรัส (flavivirus) มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก รวมทั้งไวรัสเวสต์ไนล์ที่เป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ และเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอีซึ่งทั้งหมดล้วนมียุงลายเป็นพาหะ เชื้อไวรัสซิกาถูกค้นพบครั้งแรกจากในน้ำเหลืองของลิงวอก ที่ถูกนำมายังป่าซิกาในประเทศยูกันดา เพื่อศึกษาไข้เหลือง เมื่อปี พ.ศ. 2490 และพบในคนเมื่อปี พ.ศ. 2511 ในประเทศไนจีเรีย เชื่อไวรัสซิกาพบได้ในประเทศแถบทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชียใต้ และหมู่เกาะในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก

อาการของโรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus Disease)

ระยะฟักตัวของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus Disease) ตั้งแต่รับเชื้อกระทั่งแสดงอาการใช้เวลาประมาณ 3-12 วัน(เฉลี่ย 4-7 วัน) อาการที่พบบ่อย ได้แก่มีไข้ ออกผื่น เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้ออ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ปกติแล้วจะเป็นเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายใน 2-7 วัน ได้เอง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้ทารกมีภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) ในทารกแรกเกิด หรือผู้มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท

ติดเชื้อโรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus Disease) ได้จากไหนบ้าง

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา(Zika Virus Disease) สามารถติดต่อได้ทางช่องทางหลัก โดยการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกา Zika Virus Disease กัด ส่วนช่องทางอื่นๆ ที่สามารถเป็นไปได้คือการแพร่ผ่านทางเลือด เช่น การถ่ายเลือด หรือจากแม่ที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสู่ทารกในครรภ์ส่วนการแพร่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์นั้นยังมีรายงานเป็นจำนวนน้อย จึงควรป้องกันการถูกยุงลายกัดเป็นหลัก

การวินิจฉัยโรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus Disease)

ทำได้โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) และการแยกเชื้อไวรัสจากตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ ของผู้ป่วย

การป้องกันโรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus Disease)

  • ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้งและทายากันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดลูกน้ำและยุงลายตัวแก่
  • หากป่วยด้วยอาการไข้ ออกผื่น เยื่อบุตาอักเสบ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะรุนแรงให้ไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง (ถ้ามี)
  • สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด หากมีความจำเป็นต้องเดินทาง ควรปรึกษาแพทย์และป้องกันไม่ให้ยุงกัด

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.psh.go.th/

Leave a Reply