เมื่ออายุเพิ่มขึ้นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนค่อยๆ ลดลงไป ไม่เว้นแม้แต่เพศชายที่ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ต่างจากผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะความผิดปกติของต่อมลูกหมาก ผู้ชายไทยเป็นกันมาก อันดับ 1 ที่พบคือโรคต่อมลูกหมากมากถึง 80% รองลงมาคือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 18% และโรคต่อมลูกหมากอักเสบอีก 2% ดังนั้นการสังเกตความผิดปกติและรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วจะช่วยให้อาการไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น
รู้จักโรคต่อมลูกหมากโต
โรคต่อมลูกหมากโต หรือ BPH (Benign Prostate Hyperplasia) คือภาวะที่ต่อมลูกหมากที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดใหญ่ผิดปกติจนไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง พบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และโดยเฉพาะในผู้ชายสูงวัยอายุ 80 ปีขึ้นไปพบมากถึง 80%
อาการบอกโรค
ในทางการแพทย์จะมุ่งเน้นที่อาการขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยที่ผิดปกติเป็นหลัก มากกว่าขนาดก้อนต่อมลูกหมาก สามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้
- ปัสสาวะขัด
- ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือต้องเบ่งปัสสาวะจนกว่าจะออก
- ปัสสาวะไม่พุ่ง สะดุดเป็นช่วงๆ มีปัสสาวะหยดเมื่อใกล้จะสุด ปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน
- ปวดปัสสาวะรุนแรงมาก
วิธีตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยต่อมลูกหมากโตใช้วิธีการ ดังนี้
- ซักประวัติเพื่อตรวจสอบอาการ
- ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของสายปัสสาวะ
- อัลตราซาวนด์ขนาดต่อมลูกหมากที่เปลี่ยนแปลง
- ตรวจคลำต่อมลูกหมากผ่านทางท่อทวารหนัก “ดีอาร์อี” (Digital Rectal Examination) เพื่อดูความผิดปกติ
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
วิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แบ่งออกเป็น
- รักษาด้วยยาช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก ได้แก่ ยาต้านระบบประสาทอัลฟ่า(ALPHA BLOCKER) ช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย 5อัลฟ่ารีดักเทส(DHT)และมีผลกับขนาดต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการเป็นหลัก
- ผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากออกด้วยการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มี 2 แบบ คือ
- การรักษาทางศัลยกรรมผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ TURP (Transurethral Resection of the Prostate) ใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าแบบประจุเดี่ยวโมโนโพล่าเพื่อตัดและหยุดเลือดไปพร้อมกัน
- การผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ TURPV (Transurethral Vaporized-Resection of the Prostate) หรือ Plasma Kinetic (PK) ใช้เครื่องตัดและจี้ด้วยระบบไฟฟ้าประจุคู่ไบโพล่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ส่วนที่ถูกตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าไม่ให้ไหม้เกรียมมากเกินไป มีระบบช่วยละเหิดเนื้อเยื้อคล้ายคลึงกับการใช้แสงเลเซอร์คือ แวโพไลเซชั่น (Vaporization)
- ผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์กรีนไลท์ PVP (Green Light PVP : Photo-selective Vaporization of Prostate) นวัตกรรมใหม่ของเทคนิกการผ่าตัดต่อมลูกหมากโต ใช้หลักการคือสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ เหมือนการผ่าตัดส่องกล้อง แต่เปลี่ยนจากใช้ที่ขูดเป็นแสงเลเซอร์พลังงานสูงยิงไปในตำแหน่งที่มีภาวะอุดกั้นในต่อมลูกหมาก แสงเลเซอร์จะทำให้เนื้อเยื่อที่กีดขวางทางเดินปัสสาวะค่อยๆ ระเหิดหายไป เสียเลือดน้อย เหมาะกับผู้สูงอายุมากๆ หรือมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถหยุดยาละลายลิ่มเลือด
- รักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ทูเลี่ยม (Thulium Laser Vaporesection of the Prostate) ได้ผลดีเทียบเท่า PVP ต่างกันตรงที่สามารถตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะให้เป็นชิ้นเล็กๆ เอาไว้ใช้ในการตรวจวินิจฉัยครั้งต่อไปในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก และนำมาใช้รักษาภาวะอาการท่อปัสสาวะตีบจากพังผืดได้
ภาวะแทรกซ้อนถ้าไม่รีบรักษา
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ปัสสาวะเป็นเลือดเพราะต่อมลูกหมากบวม
- ไตเสื่อม ไตวาย
เพราะการโตผิดปกติของต่อมลูกหมากเป็นเรื่องที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม นอกจากหมั่นสังเกตขณะขับถ่ายปัสสาวะแล้ว เมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไปควรตรวจเช็คภายในกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาความเสี่ยงและป้องกันรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ขอขอบคุณ:bangkokhospital