เรียกว่า ช็อกวงการบันเทิง สำหรับการสูญเสีย “พี่ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ในวัย 59 ปี ซึ่งสาเหตุสำคัญคือ อาการป่วย “ไวรัสตับอักเสบบี” และมีการลุกลามสู่การเป็นมะเร็งตับ และแพร่กระจายถึงกระดูก
เพื่อความเข้าใจถึงโรค “ไวรัสตับอักเสบบี” และ “มะเร็งตับ” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ได้แก่ รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ซึ่งคุณหมอวิโรจน์ ได้อธิบายถึงสาเหตุของการป่วยโรคมะเร็งตับว่า มะเร็งตับมีลักษณะสำคัญ 2 อย่างคือ มาจากเซลล์ตับ หรือท่อน้ำดีในตับ ถ้าเป็นมะเร็งจากเซลล์ตับ ส่วนมากที่พบในบ้านเรา คือ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี รองลงมาก็เป็นชนิดซี ส่วนสาเหตุอื่นๆ ซึ่งพบน้อย คือ มาจากสาเหตุอื่น เช่น ตับแข็ง จากการกินเหล้าเยอะ
“ทางการแพทย์ได้พิสูจน์มาแล้วว่า คนที่ป่วยไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสที่จะเป็นตับแข็ง และจากนั้นส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นมะเร็งตับ”
ไวรัสตับอักเสบบี คือ?
รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ อธิบายว่า ไวรัสตับอักเสบบี ส่วนใหญ่จะมีการติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยติดต่อผ่านเลือด โดยเฉพาะเวลาคลอดบุตร เด็กอาจจะมีรอยแผลเล็กน้อย เลือดของแม่ที่เป็นพาหะเข้าไปในตัวลูกผ่านทางบาดแผล ทำให้ลูกเป็นไวรัสตับอักเสบได้ โดยช่วงเด็กๆ อายุน้อย ก็จะไม่มีอาการอะไร ส่วนการติดต่ออีกช่องทางหนึ่งคือทางเพศสัมพันธ์
ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสตับอักเสบบีให้กับเด็กทุกคนในช่วง 20 กว่าปีก่อน ฉะนั้น คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราส่วนมากก็ไม่ได้ฉีด ทำให้คนในรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไป ของประชากรไทย ป่วยไวรัสตับอักเสบบีกันมากถึง 10% แต่ก็จะพบน้อยในรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่พบแล้ว คาดว่าอีกราว 20 ปี ไวรัสตับอักเสบก็จะลดน้อยลงไปมากหรือไม่มีเลยก็เป็นไปได้
ความสัมพันธ์ของไวรัสตับอักเสบบี กับ โรคมะเร็งตับ
ส่วนความเกี่ยวข้องกันระหว่างไวรัสตับอักเสบบี ไปสู่การป่วยมะเร็งตับ ทางการแพทย์พบว่า คนที่ป่วยไวรัสตับอักเสบบี จะมี 5% ที่กลายเป็นมะเร็งตับ ส่วนคนที่ป่วยมะเร็งตับ ส่วนมากจะเกิดมาจากไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่นการดื่มเหล้ามากจนเป็นตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับ เป็นต้น
“ดังนั้น หากคนไหนที่ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ก็ควรจะเข้ามารักษาเพื่อลดอาการการอักเสบ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งในอนาคตได้”
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า มะเร็งตับอาจแพร่กระจายไปส่วนอื่น เช่น กระดูก ปอด แต่โดยมากจะอยู่ในตับ
วิธีการสังเกตอาการและการรักษา “มะเร็งตับ”
การสังเกตอาการ คุณหมอวิโรจน์ แนะว่า เราจะเห็นจากอาการของโรคตับ เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ ตับโต อาการท้องบวม ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือถ้าโรคมะเร็งแพร่กระจายไปส่วนอื่น ก็จะมีอาการตามอวัยวะนั้น เช่น ถ้าไปที่กระดูกก็จะมีอาการปวดกระดูก หากไปปอด ก็จะมีอาการหอบ เหนื่อย
ส่วนการรักษา ถ้าเป็นมะเร็งในระยะแรกๆ สามารถผ่าตัดได้ก็จะใช้วิธีการผ่าตัด แต่ถ้าทำไม่ได้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ก็จะใช้วิธีการฉีดยา เพื่อให้ตัวยาไปอุดเส้นเลือดที่จะไปเลี้ยงมะเร็ง หรืออาจจะใช้คลื่นเสียงที่ทำให้เกิดความร้อน หรือฉีดสารบางอย่างเข้าไปตรงๆ เพื่อทำลายก้อนมะเร็ง วิธีการลักษณะนี้จะใช้กับมะเร็งที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก หรือวิธีสุดท้ายด้วยการปลูกถ่ายตับ หรือเปลี่ยนตับไปเลย ตรงนี้จะเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการทำงานของตับ
ส่วนคนป่วยในระยะอื่นๆ หรือกระจายไปมากแล้ว ก็จะเลือกใช้รักษาด้วยยา แต่จะไม่รักษาให้หายเป็นปกติได้ หรือวิธีสุดท้ายด้วยการปลูกถ่ายตับ หรือเปลี่ยนตับไปเลย
มะเร็งตับระยะสุดท้าย หากไม่ได้รักษาอยู่ได้ 6 เดือน ถึง 1 ปี
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง คุณหมอวิโรจน์ แนะนำว่า อย่าเพิ่งตกใจกลัว ให้รีบไปหาหมอพบแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา มีไม่น้อยที่กลัวการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด ทำให้หนีไปรักษาแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีไม่น้อยที่ถูกหลอก โดยเฉพาะกลุ่มแอบอ้างเรื่องปาฏิหาริย์ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่สามารถรักษาได้
หากป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย อยู่ได้นานแค่ไหน คุณหมอเชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง เปิดเผยว่า หากไม่ได้รับการรักษา จะอยู่ได้ประมาณ 3-6 เดือน แต่ถ้ามารักษาด้วยการใช้ยา ก็อาจจะยืดอายุไปได้ 1 ปี ถึงปีครึ่งหรือ 2 ปี ขึ้นอยู่กับการตอบสนองกับยาดีขนาดไหน
วิธีการป้องกัน อาหารควรหลีกเลี่ยง
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงวิธีการป้องกันว่า หากรู้แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งตับ วิธีการป้องกัน คือ การให้วัคซีนตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะแม่ที่เป็นพาหะของโรค จากนั้นก็ควบคุมดูแลตับให้ดี ป้องกันไม่ให้อักเสบ
ทั้งนี้ มีมะเร็งมากมายที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ ซึ่งโดยมากจะเป็นในคนสูงอายุ เพราะร่างกายเสื่อมสภาพ
เมื่อถามว่าอาหารมีส่วนไหมที่ทำให้คนเป็นมะเร็ง คุณหมอวิโรจน์ ยอมรับว่ามีส่วน แต่น้อยมาก อาจจะเป็นแค่ความเสี่ยง.. เพราะจากการศึกษาก็พบว่ามีความสัมพันธ์ แต่ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่ถ้าเรารู้ว่าอาหารอะไรเป็นความเสี่ยง ก็ควรเลี่ยง เช่น อาหารที่มีสารไนเตรท ไนไตรท์ หรือ อาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียมมาก แต่ในความเป็นจริง คงไม่มีใครกินอาหารแบบนี้ทุกวัน
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thairath.co.th/